ข่าวดี วัคซีนใบยา ไฟโตฟาร์ม พร้อมทดสอบในมนุษย์เฟสแรก ก.ย.นี้

02 ก.ย. 2564 | 20:10 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2564 | 12:31 น.

ข่าวดี นักวิจัยบริษัท ใบยาฯ เผย ขั้นตอนการผลิตวัคซีนใบยาอยู่ระหว่างการควบคุมการผลิต พร้อมรวบรวมนำสนอ อย. เริ่มทดลองในมนุษย์ได้ภายในเดือนก.ย.นี้

3 กันยายน 2564 มีรายงานความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาวัคซีนใบยา โดย รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ  Co-founder และ Chief Technology Officer (CTO) บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด กล่าวตอนหนึ่งในงานสนทนาให้ความรู้ Future Talk by NXPO ประเด็น "ความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยด้วยกลไกการบ่มเพาะจากสถาบันอุดมศึกษา" ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

รศ.ดร.วรัญญู เปิดเผยว่า ขณะนี้การผลิตวัคซีนใบยากำลังดำเนินการควบคุมคุณภาพ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดเสนอสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายในเดือนส.ค.นี้ ก่อนจะเริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะแรกในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งถ้าผลการทดสอบเป็นไปตามเป้าหมาย คาดว่า กลางปี 2565 จะสามารถผลิควัคซีนใบยาให้คนไทยได้ฉีด

ทั้งนี้ ไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ตลอดเวลาการผลิตวัคซีนก็ต้องมีการพัฒนาเพื่อให้วัคซีนสามารถป้องกันไวรัสได้ ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโควิดมีหลายรูปแบบ ทั้งชนิดเชื้อตาย อย่างซิโนแวค ซิโนฟาร์ม หรือโปรตีนซับยูนิต

สำหรับวัคซีนใบยาจะใช้พืชเป็นแหล่งผลิต เป็นต้นยาสูบ ที่เป็นคนละพันธุ์กับของไทยโดยเป็นยาสูบที่มีปริมาณนิโคตินต่ำซึ่งปลูกขึ้นมาและส่งถ่ายยีนเฉพาะชิ้นส่วนที่สามารถโค้ดเป็นโปรตีนของไวรัสให้พืชผลิตขึ้นมาได้ รศ.ดร.วรัญญู ระบุและว่า

นอกจากวัคซีนโควิดที่มีการพัฒนา ทางบริษัทใบยาฯได้มีการผลิตยาและศึกษาวิจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยเพราะขณะนี้ยาที่ใช้ในไทย ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามา ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนายาเพื่อสร้างความมั่นคงให้ได้ หากเกิดการระบาดของโรคอื่น ๆ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงของไวรัส ต้องพร้อมในการผลิตยา หรือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้ 

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ Co-founder และ CEO บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดของทางใบยานั้น ได้มีการทดสอบทั้งระดับห้องปฏิบัติการ ทั้งสัตว์ทดลอง ซึ่งผลค่อนข้างดี และกำลังจะก้าวเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์

จากการพัฒนาวัคซีนประมาณ 18 -20 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า ไทยมีศักยภาพ ประกอบกับเรามีโครงสร้างที่เรียกว่า ศูนย์วิจัยไพรเมท ซึ่งเป็นการลงทุนที่เกิดในประเทศไทย ทำให้มีโครงสร้างศูนย์วิจัยไม่กี่แห่งในเอเชีย ประเทศอื่นๆหากจะทำก็อาจต้องไปต่อคิวการทดลอง โดยเฉพาะการทดลองในลิง ซึ่งเป็นคีย์สำคัญของการทำวัคซีน

สำหรับการทำสตาร์ทอัพของทางบริษัท ใบยาฯ นั้น เราใช้โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มาทำงานและพร้อมจะรับกับโรคระบาดในครั้งถัด ๆ ไป 

ขณะนี้มีโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐานซึ่งเป็นโรงงานผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุด้วยพืช ใช้สำหรับมนุษย์เป็นแห่งแรกของเอเชีย ขณะเดียวกันเรามีการปรับสูตรวัคซีนเจเนเรชัน 2 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น แต่ต้องขอดูผลการศึกษาเฟส 1 ก่อนพิจารณาว่าจะมีรุ่นที่ 2 หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ต้องการวัคซีนที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงที่สุดซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานอย่างแน่นอน โดยตามแผนคาดว่าไตรมาส 3 ปี 2565 น่าจะมีวัคซีนพร้อมฉีดได้แต่ก็ขึ้นอยู่กับผลของเฟส 1 เฟส 2 และเฟส 3 ผลเป็นอย่างไรด้วย นอกจากนี้ใบยาไม่ได้มองแค่วัคซีนแต่จะมีการวิจัยยามะเร็งด้วย

สำหรับการพัฒนาวัคซีนใบยานั้น เป็นการทำงานร่วมกันแบบสหสาขาวิชาชีพทั้งความรู้ระดับอุตสาหกรรม เภสัชกรรม การประกันคุณภาพ การออกแบบสัตว์ทดลองเพื่อนำสู่การขึ้นทะเบียนให้ได้ การทำงานจึงเป็นทีม มีหลากหลายสาขาโดยวัคซีนใบยาที่มาถึงจุดนี้มาจากทีมนักวิจัยทั่วประเทศ

ร่วมด้วยช่วยกันซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไทยมีความสามารถมาก มีบางเรื่องเราไม่รู้ อย่างยาหนึ่งตัวไม่ใช่แค่งานวิจัยแล้วไปตีพิมพ์ หรือทำระดับอุตสาหกรรมเพราะอ่านแค่ไกด์ไลน์ GMP แต่ยังต้องประสานองค์ความรู้ต่างๆอีกมากซึ่งเรามีความพร้อมแต่ต้องทำงานร่วมกันได้ซึ่งในส่วนใบยาเราสามารถทำงานร่วมกันได้