สปสช.ขยายสิทธิ10 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่"ฟรีถึง 31 ธ.ค.นี้

10 ก.ย. 2564 | 20:59 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2564 | 21:12 น.

สปสช.ขยายกลุ่มเป้าหมายวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพิ่มบุคลากรหรือผู้ปฏิบัติงานที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลุ่มเสี่ยงในชุมชนแออัดและโรงเรียนทุกช่วงอายุ ให้บริการถึง 31 ธ.ค.64

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบขยายเวลาให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรีจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 รวมทั้งเพิ่มกลุ่มเป้าหมายในการรับวัคซีนอีก 3 กลุ่ม คือ 1.บุคลากรหรือผู้ปฏิบัติงานที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19  2.กลุ่มที่อยู่สถานที่มีการรวมตัวของประชากรจำนวนมาก เสี่ยงต่อการระบาด และ 3. กลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ขึ้นกับสถานการณ์

สปสช.ขยายสิทธิ10 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่\"ฟรีถึง 31 ธ.ค.นี้

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายเดิมที่สปสช.ฉีดคือกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป กลุ่มเด็กเล็กไม่เกิน 2 ขวบ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนลืมไปว่ายังมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วย ทำให้กลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ฉีดได้ไม่ครบ

อย่างไรก็ดี เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การฉีดวัคซีนเริ่มคงที่แล้ว ผู้สูงอายุ 50% ได้รับวัคซีนโควิดเข็ม 2 แล้ว สถานบริการต่างๆก็น่าจะพร้อมที่จะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น สปสช.จึงขยายเวลาการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จนถึงสิ้นปี โดยในกลุ่มเป้าหมายเดิมเมื่อฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 2 แล้ว ก็น่าจะมีเวลามาฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้

และนอกจากกลุ่มเป้าหมายเดิมแล้ว สปสช.ขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่ม คือบุคลากรด่านหน้าที่ให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อได้วัคซีนครบแล้วก็ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เช่นกัน รวมทั้งกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่แออัด และคนที่มีโอกาสเสี่ยง ซึ่งถ้าจะกล่าวไปก็คือทุกช่วงอายุนั่นเอง เช่น กลุ่มโรงเรียน เมื่อเปิดเทอมแล้ว จะมีกลุ่มคนจำนวนมากไปรวมกันทำให้เสี่ยงต่อการติดต่อโรค 

“เมื่อก่อนเราไม่ได้ให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่กับกลุ่มนี้ แต่ตอนนี้จังหวะมันดี โรคโควิดและไข้หวัดใหญ่มีอาการเริ่มต้นคล้ายกัน เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสที่จะป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ ก็จะทำให้อาการเริ่มต้นชัดเจนมากขึ้นในคนที่เป็นโควิด สรุปคือเราขยายการฉีดในกลุ่มเป้าหมายเดิม เพิ่มกลุ่มเป้าหมายใหม่ให้ทุกกลุ่มอายุ และขยายเวลาฉีดออกไป” รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวด้วยว่า แนวทางการกระจายวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมี 2 วิธี วิธีแรกคือถ้าเป็นระดับส่วนบุคคล สามารถเข้าไปรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองได้ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลรัฐและ รพ.สต.ทุกแห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. และคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ แนะนำให้โทรไปล่วงหน้าก่อน

วิธีที่ 2 ในรอบนี้ สปสช.อยากจะโฟกัสเป็นกลุ่มก้อน เช่น เข้าไปในชุมชนแออัดเอาวัคซีนไปให้ถึงที่น่าจะทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่าเดิม โดยจะประสานงานกับหน่วยบริการหรือองค์กรที่ต้องการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ รวมทั้งโฟกัสที่กลุ่มนักเรียน เพราะถ้านักเรียนจะเปิดเทอม กลุ่มที่อายุต่ำกว่า 12 ปีจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้วัคซีนโควิด เพราะฉะนั้นให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตอนนี้ก็น่าจะดี อย่างน้อยก็แน่ใจว่าไม่เป็นไข้หวัดใหญ่

ทั้งนี้ การเข้ารับวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนใดก่อนก็ได้ โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทั้งยังสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ระหว่างการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ได้ เพื่อเร่งรัดการสร้างภูมิคุ้มกันโรค

สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงเดิม ที่มีสิทธิรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน) 4. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)  และ 7. โรคอ้วน (มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) 

และประชาชนอีก 3 กลุ่มที่บอร์ด สปสช.มีมติขยายเพิ่ม ได้แก่ 1.บุคลากรหรือผู้ปฏิบัติงานที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 2.กลุ่มที่อยู่สถานที่มีการรวมตัวของประชากรจำนวนมาก เสี่ยงต่อการระบาด และ 3.กลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ขึ้นกับสถานการณ์