สิ้นแล้ว “ทมยันตี”คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ศิลปินเเห่งชาติ

13 ก.ย. 2564 | 06:54 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2564 | 19:35 น.

สิ้นแล้ว ทมยันตี คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ศิลปินเเห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2555 เสียชีวิตด้วยวัย85 ปี ขณะนั่งสมาธิ ณ ล้านนาเทวาลัย จ.เชียงใหม่

มกุฏ อรฤดี  บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ “ทมยันตี” คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ถึงแก่กรรมแล้ว

 

เช่นเดียวกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยโพสต์เฟซ บุ๊ก ระบุข้อความขอแสดงความอาลัยยิ่งต่อการจากไปของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี, ลักษณวดี, กนกเรขา, โรสลาเรน, มายาวดี) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2555

 

สิ้นแล้ว “ทมยันตี”คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ศิลปินเเห่งชาติ

 

'ทมยันตี' เป็นนามปากกาของคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ศิลปินเเห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2555 

 

นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวถึงการถึงแก่กรรมของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ นักเขียนชื่อดังเจ้าของนามปากกา ทมยันตี และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2555 โดยระบุว่า ได้รับรายงานว่า คุณหญิงวิมล ถึงแก่กรรมในวันนี้ (13 ก.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. โดยถึงแก่กรรมในขณะนั่งสมาธิ ที่ล้านนาเทวาลัย ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ สิริรวมอายุ 85 ปี

 

นอกจากนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ เผยแพร่และถ่ายทอดผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนแล้ว เมื่อศิลปินฯ เสียชีวิต ยังให้การช่วยเหลือด้านต่างๆ ด้วยการมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท

 

คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เป็นนักประพันธ์นวนิยายชาวไทยที่มีชื่อเสียง เเละสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นคุณูปการเเก่วงการจำนวนมาก โดยใช้นามปากกาที่เป็นที่รู้จัก คือ ทมยันตี, ลักษณวดี, กนกเรขา, โรสลาเรน, วัสสิกา, มายาวดี

 

ทั้งนี้ ผลงานนับร้อยเรื่องได้รับการยอมรับเเละถูกนำมาต่อยอดเป็นละครเเละภาพยนตร์ เช่น คู่กรรม, ทวิภพ, ค่าของคน, อุบัติเหตุ, ดาวเรือง, ล่า, เวียงกุมกาม, นากพัทธ์, พิษสวาท, ดั่งดวงหฤทัย, คำมั่นสัญญา, พี่เลี้ยง, เลือดขัตติยา, ใบไม้ที่ปลิดปลิว และอื่น ๆ ซึ่งมีการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายยุคหลายสมัย

 

สิ้นแล้ว “ทมยันตี”คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ศิลปินเเห่งชาติ

 

สิ้นแล้ว “ทมยันตี”คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ศิลปินเเห่งชาติ

 

ส่วนประวัติของคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย ระบุว่าทมยันตี มีชื่อจริงว่า คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ชื่อเล่นว่า อิ๊ด เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมพ.ศ. 2480 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรีคนใหญ่ของทองคำ และไข่มุก ศิริไพบูลย์ มีพี่ชายหนึ่งคน และมีน้องสาวหนึ่งคน ตระกูลฝ่ายบิดาเป็นทหารเรือตระกูลฝ่ายมารดาเป็นชาววัง

 

จบการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ จากนั้นศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ เริ่มเขียนเรื่องสั้นเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยม 4 ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ศรีสัปดาห์ และได้เขียนเรื่องสั้นต่อเนื่องอยู่ถึง 11 ปี ขณะที่เริ่มเขียนเรื่องยาวเรื่องแรกคือเรื่อง ในฝัน เมื่ออายุ 19 ปี ใช้นามปากกา โรสลาเรน ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์

 

วิมลได้ชื่อว่ามีความสัมพันธ์แน่นแฟันกับฝ่ายทหาร และมักสนับสนุนระบอบทหาร โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 วิมลมีบทบาทเป็นแกนนำสำคัญของชมรมแม่บ้าน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพลและแม่บ้าน กับทั้งเคยปราศรัยโจมตีขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยว่าเป็นผู้ปอนทำลายมิตรประเทศ คือ สหรัฐภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

 

ในปีถัดมา วิมลได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ปี พ.ศ. 2522 เป็นสมาชิกวุฒิสภา, และปี พ.ศ. 2527 ได้เป็นผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพหลังจากเลิกเป็นครูแล้ว วิมลสมรสกับสมัคร กล่าเสถียร ต่อมาได้หย่าร้างกัน และสมรสครั้งที่สองกับร้อยตำรวจโทศรีวิทย์ เจียมเจริญ มีบุตรชายด้วยกันสามคน เธอใช้ชีวิตสมรสกับสามีระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็เกิดปัญหาอีก ทำให้มีคดีฟ้องร้องกันราวปี พ.ศ. 2523

 

สิ้นแล้ว “ทมยันตี”คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ศิลปินเเห่งชาติ

 

ในขณะที่เธอดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังเปลี่ยนมาศึกษาคณะพาณิชย ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เธอเป็นนักโต้วาทีของมหาวิทยาลัย ร่วมทีมกับสมัคร สุนทรเวช และชวน หลีกภัยเธอใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือในห้องสมุดหลายแห่ง เธอตัดสินใจไม่ไปสอบเพื่อรับปริญญา ทำให้เธอสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาแทน ในขณะศึกษาระดับชั้นปีที่สามเพื่อนของเธอได้ซักชวนให้ไปสมัครเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยและวิชาประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์เธอจึงลาออกเพื่อไปประกอบอาชีพครู และเขียนหนังสือไปพร้อม ๆ กัน

 

คุณหญิงวิมล มีนามปากกา 6 ชื่อ ได้แก่

 

1.โรสลาเรน เป็นนามปากกาแรก เทียบคำในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า "กุหลาบราชินี" ใช้เขียนเรื่องรักพาฝันหรือจินตนิยาย วิมลกล่าวว่านามปากกานี้นำมาจากชื่อนางเอกซึ่งเป็นนักร้องโอเปร่าในเรื่องสั้นของหลวงวิจิตรวาทการ นามปากกานี้ใช้ครั้งแรกในนวนิยายเรื่อง "ในฝัน"

                                                                     

2.ลักษณวดี ใช้สำหรับเขียนนวนิยายรัก ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาของเหล่าเจ้าหญิงเจ้าชาย คำว่า "ลักษณวดี" มีความหมายว่า "นางผู้มีลักษณะดี , นางผู้งามเลิศ" วิมลนำชื่อ "ลักษณวดี" ซึ่งเป็นนางในวรรณคดีและเป็นมเหสีของพระลอดิลกราชจากวรรณคดีเรื่อง "ลิลิตพระลอ"

 

3.กนกเรขา ใช้สำหรับแต่งเรื่องตลกเบาสมอง คำว่า"กนกเรขา" แปลว่า "อักษรอันวิจิตร" วิมลนำชื่อ "กนกเรขา" ซึ่งเป็นนางในวรรณคดีเรื่อง "กนกนคร" ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือพระนามเดิม คือ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (น.ม.ส.) มาใช้เป็นนามปากกา

 

4.ทมยันตี (อ่านว่า ทะ-มะ-ยัน-ตี แปลว่า "นางผู้มีความอดทนอดกลั้น" เป็นนางในวรรณคดีเรื่อง "พระนลคำหลวง" ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นนามปากกาที่ใช้แต่งเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตและสังคม รวมทั้งแต่งเรื่องราวแนวจิตวิญญาณ วิมลเริ่มใช้นามปากกานี้ในการประพันธ์นวนิยายเรื่อง "รอยมลทิน"เป็นเรื่องแรก

 

5.มายาวดี ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ หรือเรื่องเล่าจากตำนาน ความเชื่อต่าง ๆ และเคยใช้นามปากกานี้เขียนคอลัมน์ "สนธยากาล" ลงในนิตยสารขวัญเรือน (ภายหลังนิตยสารขวัญเรือนได้เลิกกิจการ คุณหญิงวิมลได้เขียนเรื่องราวดังกล่าวข้างต้นลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ "ล้านนาเทวาลัย"

 

6.วิม-ลา เป็นนามปากกาล่าสุดของคุณหญิงวิมล ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ หรือเรื่องเล่าจากตำนานความเชื่อต่าง ๆ ลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ "ล้านนาเทวาลัย" โดยเริ่มเขียนเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคมพ.ศ. 2562