ผ่าเเผนแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเมืองพัทยา

14 ก.ย. 2564 | 02:35 น.

ปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยาเรื้อรังเเละซ้ำซากมายาวนาน ล่าสุดเดินเครื่องแผนแก้น้ำท่วมแบบเร่งด่วน เน้นระบายเร็ว เพิ่มพื้นที่รับเเละระบายน้ำ สั่งรื้ออาคารรุกล้ำ สกัดการถมดินสิ่งปลูกสร้างเกินกฎหมายกำหนด หากทำได้ประชาชนเมืองพัทยาจะได้หลุดจากวงโคจรนี้เสียที

สภาพน้ำท่วมขังในเมืองพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังพายุโกนเซินเล่นงานทำฝนตกหนัก ถล่มเมืองจมบาดาล ทะลักเข้าบ้านเรือนประชาชน ถนนมีน้ำท่วมสูง การจราจรเป็นอัมพาต ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง

ผ่าเเผนแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเมืองพัทยา เหตุการณ์แบบนี้มีให้เห็นอยู่เป็นประจำเพราะพัทยาเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำจนทำให้ต้องรองรับมวลน้ำจากฝั่งตะวันออก 5 จุดใหญ่ประกอบด้วย ซอยหนองใหญ่ ซอยสุขุมวิท 45 ซอยวัดบุญสัมพันธ์ ถนนเลียบทางรถไฟซอยเขาตาโล และซอยหนองกระบอก

อีกทั้งแหล่งรับน้ำเดิมปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่ก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์

ไม่เพียงเท่านั้นท่อระบายน้ำในเขตเมืองพัทยา ผ่านการใช้งานมานานมีขนาดไม่สมดุลกับมวลน้ำ ทำให้ทุกครั้งที่มีฝนหนักจะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังระดับสูง ทั้งบริเวณปากทางพัทยาใต้ถนนสุขุมวิท แยกมุมอร่อย ถนนเลียบทางรถไฟ รวมทั้งชุมชนอีกหลายแห่ง และถนนสายชายหาด

ขณะที่หลายจุดที่ท่วมนั้นส่วนใหญ่เป็นจุดที่ท่วมเป็นประจำ เช่น บนถนนสุขุมวิท ด้านหน้าสถานีตำรวจทางหลวงสาขาพัทยา ถนนพัทยาใต้ พัทยากลาง พัทยาเหนือ นาเกลือ ถนนภายในซอยบัวขาว ถนนเส้นเลียบทางรถไฟ ภายในซอยวัดธรรมสามัคคี ภายในซอยบุญสัมพันธ์ หรือซอยเขาน้อย ภายในซอยเนินพลับหวาน

ผ่าเเผนแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเมืองพัทยา

ความเดือดร้อนของประชาชนและคำถามถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยาดีพอแล้วหรือไม่ ? 

ซึ่งถูกสะท้อนผ่านคลิปวิดีโอรถเก๋งสีดำลอยตามกระแสน้ำ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา เพราะฝนตกหนักที่สุดในรอบ 10 ปี ทำให้มวลน้ำหลากเข้าพื้นที่จำนวนมาก การระบายเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า ท่ามกลางเสียงของผู้ที่ถ่ายคลิป โดยระบุข้อความว่า

“หน้าบ้านผมเลย ถึงเอว โชคดีที่เอารถออกไปจอดไว้ที่อื่นแล้ว น่าสงสารมาก รถป้ายแดงมีคนติดอยู่ข้างในด้วย นี่แก้ปัญหาน้ำท่วมแล้วใช่ไหม นี่กลางเมือง พัทยาใต้ ออกไปช่วยไม่ได้เพราะบ้านก็ท่วมถึงเอว ท่วมถึงปลั๊กไฟแล้ว ประตูบ้านเป็นประตูม้วนไฟฟ้า เปิดไม่ได้ ขอให้คนในรถปลอดภัยครับ"

คลิปนี้มีคนเข้ามากดไลก์ กดแชร์เป็นจำนวนมาก

แม้เมืองพัทยากำลังเร่งดำเนินโครงการระบบระบายน้ำทั่วพื้นที่ แต่ก็แค่ลดระยะเวลาการท่วมขังเท่านั้น.....

“เมืองพัทยาระบายน้ำได้เร็วกว่าเดิมมาก ไม่ท่วมขังนานเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่ก็ยังมีชุมชนที่เกิดท่วมขังซึ่งส่วนมากเป็นพื้นที่ต่ำ ผมย้ำว่าเราต้องทำให้น้ำไหลออกจากพื้นที่เมืองพัทยาเร็วที่สุด เข้าไปดูแลชาวบ้านตั้งแต่วันแรก ช่วยเหลือชุมชนเต็มที่” นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าว

ผ่าเเผนแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเมืองพัทยา

สาเหตุที่พัทยาน้ำท่วม เพราะอะไร ?

นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า เมืองพัทยามีสภาพภูมิประเทศเป็นเนินเขาสลับกับที่ราบ บางส่วนเป็นแอ่งกะทะ โดยเฉพาะพัทยากลางและนาจอมเทียน ทางระบายน้ำของเมืองพัทยา 7 แห่ง ได้แก่ คลองกระทิงลาย คลองนาเกลือ คลองปึกพลับ คลองนกยาง คลองเสือแผ้ว คลองพัทยาใต้ และคลองห้วยใหญ่ ถูกบุกรุกโดยชุมชนเพื่อขยายเมือง คลองส่วนใหญ่ตื้นเขินและแคบลงจากในอดีต มีการปลูกสร้างอาคารใกล้คลองจำนวนมาก รวมทั้งหลายแห่งมีการแอบเอาขยะมาทิ้ง

ท่อระบายน้ำเดิมที่สร้างไว้มีขนาดเล็กไม่สามารถระบายน้ำลงทะเลได้ทัน ทางระบายน้ำมีทางออกลงสู่ทะเลทางเดียวคือ สถานีสูบน้ำบริเวณปากทางพัทยาใต้ใกล้วอล์คกิ้งสตรีท

สำหรับโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมชายหาดพัทยาโดยวางท่อระบายน้ำขนาด 1.80 เมตร ยาว 2,700 เมตร ที่ก่อสร้างเสร็จไปแล้วนั้น ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่ไหลบ่าลงมาจากฝั่งตะวันออกของเมืองพัทยาได้ บางครั้งเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนในช่วงฝนตกทำให้ระบายน้ำฝนลงทะเลไม่ได้จึงเอ่อท่วม ต้องรอระบายในช่วงที่น้ำทะเลลงก่อน

เมืองพัทยาต้องเร่งปรับปรุงการระบายน้ำใหม่ให้มีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องการแก้ไขการบุกรุกคลอง การขุดลอกคลอง บูรณะคลอง และใช้กฎหมายต่อผู้ทำผิดทั้งการแอบทิ้งขยะและรุกล้ำคลองอย่างเด็ดขาด ตลอดจนวางผังการระบายน้ำใหม่ อาจทำเป็นอุโมงระบายน้ำไปในทะเลโดยตรง เป็นต้น

แล้วประชาชนเมืองพัทยาจะหลุดจากวงโคจรซ้ำซากนี้ได้หรือไม่ ???

เริ่มจากการบรรเทาทุกข์ของประชาชนเฉพาะหน้า ได้แก่ การระดมเครื่องสูบน้ำและเร่งสูบน้ำที่ท่วมขังในชุมชนซึ่งเป็นแอ่งรับน้ำเข้าสู่ระบบระบายน้ำ พร้อมทีมบรรเทาสาธารณภัยที่เข้าไปซ่อมกำแพงที่พัง ล้างทำความสะอาดดินโคลนให้แก่ชุมชน

ผ่าเเผนแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเมืองพัทยา อีกด้านหนึ่งเตรียมบังคับใช้ พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 อย่างเคร่งครัด หลังจากพบข้อมูลว่าที่ผ่านมามีการถมดินก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ได้ขออนุญาต

“เริ่มดำเนินการรื้อสถานที่รุกล้ำที่ปิดกั้นทางน้ำ ซึ่งสำรวจแล้วมีจำนวนมากที่ก่อสร้างในที่สาธารณะหรือคลองในพัทยา เช่น คลองพัทยาใต้ คลองนาเกลือ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายการระบายน้ำในจุดที่เป็นปัญหาสำคัญทั่วเมืองพัทยา” นายสนธยา กล่าวถึงมาตรการต่างๆเเละอธิบายเพิ่มเติมว่า

นอกจากนี้ยังเร่งออกแบบและบริหารจัดการน้ำจากพื้นที่สูงไม่ให้ไหลเข้าชุมชน โดยวางระบบท่อให้ไหลตัดลงสู่ทะเล เช่น บริเวณเขาน้อย เขาตาโล ห้วยใหญ่ แยกวัดชัยมงคล มีระยะลงสู่ทะเลประมาณ 100 เมตร รวมถึงการสูบน้ำในจุดท่วมขัง เช่น ระหว่างทางรถไฟกับถนน กลับไปยังพื้นที่แก้มลิง ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ 20 ไร่ และจะต้องขยายพื้นที่รับน้ำเพิ่มเติมก่อนจะผันน้ำออกไป

เมืองพัทยายังได้รับการสนับสนุนงบประมาณอุดหนุนเฉพาะกิจของรัฐบาลมาใช้ในโครงการวางท่อระบายน้ำฝั่งตะวันออกของทางรถไฟวงเงิน 600 ล้านบาท ซึ่งเพิ่งมีการลงนามสัญญาก่อสร้าง กำลังจะเริ่มดำเนินการ เพื่อให้แล้วเสร็จในปี 2566

ผ่าเเผนแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเมืองพัทยา โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริหารจัดการน้ำระยะยาว ตามแผนแม่บทการแก้ปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 23 กพ.2564 เช่น โครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำถนนเลียบรถไฟฝั่งตะวันออก ช่วงคลองนาเกลือถึงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 จังหวัดระยอง เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาได้มากขณะเดียวกันวันที่ 10 กันยายน 2564 ได้จัดโครงการจัดทำแผนพัฒนาเมืองพัทยา (พ.ศ.2566-2570) โดยมหาวิทยาลัยบูรพา

เมืองพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจึงเป็นเรื่องสำคัญและอาจต้องใช้เวลา นักธุรกิจหลายคนมองว่าควรจัดทำข้อมูลเตือนภัย ตลอดจนแนะนำเส้นทางคมนาคมเพื่อความสะดวก สามารถหลีกเลี่ยงพื้นที่ๆเป็นปัญหาและบรรเทาผลกระทบไปก่อน

วิกฤตินี้หากมองให้เป็นโอกาสก็น่าจะทำให้หลายฝ่ายเร่งหาแนวทางป้องกันเชิงรุกมากขึ้น ไม่ใช่แค่ตั้งรับหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าครอบคลุมทั้งเรื่องการขยายตัวของเมือง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หวังว่ามาตรการต่างๆจะทำให้ประชาชนเมืองพัทยาหลุดพ้นจากปัญหาซ้ำซากนี้ไปได้เสียที......

ขอบคุณภาพ : Sonthi Kotchawat