นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากกรณีการนำขยะติดเชื้อจากผู้ป่วยโควิด-19 ไปเผาในเตาเผาศพอย่างต่อเนื่องทุกวัน จนเตาเผาชำรุดเกิดไฟไหม้เสียหาย นั้น เนื่องจากเตาเผาศพส่วนใหญ่มีอุณหภูมิที่ใช้ในการเผาต่ำกว่าเตาเผาขยะติดเชื้อที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ซึ่งในการฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ จะต้องใช้ความร้อนสูง
ประกอบกับเตาเผาศพไม่มีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ จึงก่อให้เกิดปัญหากลิ่น ฝุ่นละออง ก๊าซพิษ รวมถึงโลหะหนักต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม และการก่อสร้างเตาเผาศพไม่ได้ถูกออกแบบให้มีความแข็งแรง คงทน ที่จะเผาอย่างต่อเนื่องทุกวัน จึงไม่ควรนำขยะติดเชื้อไปเผาในเตาเผาศพ
นายอรรถพล กล่าวว่า การกำจัดขยะติดเชื้อทั้งที่เกิดจากการรักษาตัวที่บ้าน การรักษาตัวในชุมชน หรือศูนย์พักคอยผู้ติดเชื้อก่อนส่งต่อ ต้องประสานเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงมาเก็บรวบรวมเพื่อนำไปเผาในเตาเผาที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ
ซึ่งจะมีห้องเผาที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 760 องศาเซลเซียส และมีห้องเผาควันด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,000 องศาเซลเซียส มีการควบคุมมาตรฐานอากาศเสียที่ปล่อยออกจากเตาเผาตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมีความปลอดภัย
จากปัญหาขยะติดเชื้อล้นระบบ ซึ่งตกค้างอยู่ที่เตาเผาของ อปท. และของเอกชน ขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (กรมอนามัย) กระทรวงอุตสาหกรรม (กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) กระทรวงพลังงาน (สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน)
กำลังดำเนินการปรับเกณฑ์ภาครัฐอย่างเร่งด่วน ให้สามารถนำขยะติดเชื้อล้นระบบไปกำจัดในเตาเผาโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงเป็นการชั่วคราวได้ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นายอรรถพล กล่าว