อีกมิติใหม่กับการสร้างพื้นที่สุขภาวะ เมื่อ Imagine Thailand Movement ร่วมกับ สสส. เดินหน้าสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ทางสังคม สร้างพื้นที่สุขภาวะ เพื่อส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ต้นแบบใหม่ๆ
ล่าสุด ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว ละครออนไลน์ “เสน่ห์รอยรั่ว Nothing is Impossible" โดยครูเล็ก “ภัทราวดี มีชูธน” และมูลนิธิละครธรรมะในพระสังฆราชูปถัมภ์
ที่ใช้ศิลปศาสตร์อุดรอยรั่วสังคม พร้อมนำเสนอในรูปแบบใหม่ที่มีประโยชน์มากกว่าละครทั่วไป หลังจบละครเปิดวงสนทนาสดต่อเนื่อง หยิบยกประเด็นในแต่ละตอนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักแสดง และผู้ชม คุยสนุกและได้สาระ เพื่อคนทุกวัย
แม้วันนี้ ครูเล็ก "ภัทราวดี มีชูธน" ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ละครเวทีและภาพยนตร์) ประจำปี 2557 ผู้ก่อตั้งมูลนิธิละครธรรมะในพระสังฆราชูปถัมภ์ ผู้ก่อตั้งวิกหัวหิน และโรงเรียนภัทราวดีหัวหิน อยู่ในวัย 74 ปีแล้ว แต่ยังมุ่งมั่นในการทำละครสนุกๆ และมีสาระให้กับเหล่าผู้ชมทุกเพศทุกวัย
ล่าสุด ครูเล็กพร้อมบรรดาลูกศิษย์รุ่นใหญ่-รุ่นเล็ก หลายสิบชีวิต มาร่วมเปิดตัวละครออนไลน์เรื่อง "เสน่ห์รอยรั่ว" Nothing is Impossible ที่วิกหัวหิน อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเสน่ห์รอยรั่ว โรงเพาะบ่มอุดรอยรั่วด้วยศิลปะเพื่อสังคมสุขภาวะ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ละครดังกล่าวเป็นการนำเสนอเรื่องราว "รอยรั่ว" ของตัวละครหลากวัยที่คิดต่าง แต่ต้องมาอยู่ร่วมกันในค่ายศิลปะการแสดง N.im.P (Nothing is Impossible) ถึง 14 วัน รอยรั่วของแต่ละคนที่ค่อยๆ เผยตัวออกมา แต่ครูทิวา (ครูเล็ก ภัทราวดี) และครูซอ ( ตั๊ก นภัสรัญชน์ มิตรธีรโรจน์ ) แก้ปัญหาด้วยการใช้ศิลปศาสตร์ เพื่อให้ทุกคนค้นพบตัวเองและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
“เสน่ห์รอยรั่ว” อำนวยการสร้างและกำกับการแสดงโดย ครูเล็ก “ภัทราวดี มีชูธน” กำกับภาพ โดย ชาติชาย เกษนัส (ผู้กำกับละครโทรทัศน์ จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี) ร่วมด้วยศิลปินรับเชิญ อาทิ ตั๊ก-นภัสรัญชน์,ป๊อก - ปิยธิดา มิตรธีรโรจน์, อ้น - สราวุธ มาตรทอง, เล้ง - ราชนิกร แก้วดี, อุ๋ย - นที เอกวิจิตร (Buddha Bless), บอส ธวัชนินทร์ ดารายน (The FaceMen Thailand), จุ๋ม - สุมณฑา สวนผลรัตน์ (ศิลปิน รางวัลศิลปาธร), เชฟเม- ภัทรวรินทร์ ทิมกุล, เก่ง - จักรินทร์ เพชรวรพล (แชมป์สเก็ตบอร์ด) และคณะนักแสดงรุ่นใหม่ฝีมือดีอีกมากมาย
ครูเล็กเล่าที่มาของละครออนไลน์ให้ฟังว่า หลังจากได้เข้าร่วมประชุมกับทาง Imagine Thailand Movement ที่ประกอบด้วยศิลปินและปราชญ์หลากหลายสาขา ทำให้เกิดจุดประกายในการนำปัญหาของเด็กๆ และปัญหาในครอบครัวที่เป็นเรื่องใกล้ตัวมาทำเป็นละคร ในที่สุดเกิดเป็นเสน่ห์รอยรั่ว
ประกอบกับคุณชาติชาย เกษนัส ได้มาถามเทคนิคการกำกับ เลยคิดว่าสร้างเป็นละครดีกว่า จะได้สอนทั้งขั้นตอนการเรียนศิลปะศาสตร์แขนงต่างๆ และการกำกับในสไตล์ของตนเอง พร้อมเชิญลูกศิษย์รุ่นใหญ่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำงาน โดยให้นักแสดงทุกคนได้มีส่วนร่วม ให้คิดสร้างสรรค์เองว่าอยากจะเล่นบทไหน จากนั้นก็เสริมความคิดให้
ซึ่งทุกคนก็แฮปปี้เพราะได้ทำในสิ่งที่อยากทำ เกิดความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน เลยทำให้ทุกคนสนุกที่จะเล่น ไม่เหมือนละครเรื่องอื่นๆ ที่ผู้กำกับจะสั่งให้เล่นไปตามบทที่มีการเขียนกำหนดไว้แล้ว
"จุดประสงค์ของการสร้างละครเรื่องนี้ อยากให้ผู้คนได้รับรู้ว่า ทุกคนมีรอยรั่วกันทั้งนั้น แม้กระทั่งตัวดิฉันเอง ฉะนั้นการอยู่ร่วมกันจะต้องช่วยกันอุดรอยรั่วอย่างเข้าใจ อย่ารังเกียจ ให้คิดเสียว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง เพราะทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขและปรับเข้าหากัน ขอให้คิดบวกในทุกเรื่อง และสำหรับในปีนี้อยากทำพื้นที่สร้างสรรค์ อยากทำพื้นที่สุขภาวะอย่างจริงจัง
โดยทำพื้นที่ของร.ร.ให้เป็น Hub of Education เป็นพื้นที่ ที่ให้ใครๆก็ได้เข้ามาเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิชาการ การทำเกษตร หรือเล่นกีฬาฯลฯ” ครูเล็ก กล่าว
สำหรับนักแสดงรุ่นใหญ่ ตั๊ก-นภัสรัญชน์ มิตรธีรโรจน์ รับบทครูซอ เล่าว่า ในการเล่นละครเรื่องนี้ ได้เจอกับน้องๆ เยาวชนหลายคนที่เคยก้าวพลาด เคยล้ม สิ่งหนึ่งที่รู้สึก คือ คนทุกคนพลาดได้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าพลาดแล้ว มีใครที่จะกอดหรือให้โอกาสเขาไหม
คนทุกคนก็มีรอยรั่ว ถ้ามีจิตใจที่ดีต่อกันอาจช่วยกันอุดรอยรั่วของกันและกัน เหมือนการให้โอกาสกัน ถ้าคนไม่เคยล้มเลย ไม่เคยผิดพลาด คงไม่มีทางเข้าใจ ตนไม่เชื่อว่า ไม่มีใครไม่เคย เพียงแต่ว่า กล้ายอมรับที่จะบอกตัวเองว่าฉันล้มเหลว แล้วกล้าที่จะลุกขึ้นมารับฟังจากใครสักคนหนึ่ง หรือกล้าไหมที่จะเดินไปหาใครสักคนหนึ่งเพื่อจะบอกเขาว่า ช่วยผมที บอกผมหน่อย ผมต้องทำยังไง ผมว่าโลกนี้มันน่าอยู่ ถ้าทุกคนเป็นอย่างนี้
ทางด้าน ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) และ Imagine Thailand Movement ซึ่งร่วมงานกับครูเล็กมาหลายปี พูดถึงละครเรื่องนี้ว่า "เสน่ห์รอยรั่ว" เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ คุณครูเล็ก ใช้ศิลปศาสตร์มาอุดรอยรั่วของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ เด็กหรือเยาวชน โดยที่ศิลปศาสตร์ช่วยกล่อมเกลาคน ทำให้เกิดเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น อยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น เอื้ออารีต่อกันมากขึ้น มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เป็นละครที่เป็นสื่อสามารถสื่อเรื่องแนวคิดสุขภาวะให้กับทุกๆ คนในสังคมไทย
สำหรับการสร้างเป็นละครออนไลน์นั้น ดร.อุดมมองว่า จริงๆ แล้ว พื้นที่สร้างสรรค์ทางสังคมออนไลน์แบบนี้ มีข้อดีคือ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ทุกเวลา และพื้นที่สร้างสรรค์นี้จะยังคงอยู่บนนั้นตลอดไป เมื่อไร ก็ตามที่เราสนใจก็สามารถเข้าไปเรียนรู้ เปิดกลับเข้าไปดูซ้ำได้อีก ละครเสน่ห์รอยรั่วไม่เหมือนละครเรื่องอื่นทั่วไป คือเนื้อหาการเดินเรื่องได้ให้แนวคิดความรู้สอดแทรกอยู่เสมอ และอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือการได้มีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับคุณครูเล็ก และแขกพิเศษในแต่ละตอน
รวมถึงคนที่อยู่เบื้องหน้า เบื้องหลัง และผู้รู้ในด้านต่างๆ ที่จะเข้ามาแบ่งปันประสบการณ์ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นประโยชน์ในระยะยาวที่ทุกคนสามารถกลับเข้ามาศึกษา มาเรียนรู้ และนำไปปฏิบัติ เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะต่อไป เพื่อตนเอง เพื่อคนที่เรารักและคนที่รักเรา
“เสน่ห์รอยรั่ว” เป็นละครสร้างสรรค์ดูได้ทุกวัย นำเสนอผ่านทาง Facebook และ YouTube Patravadi Channel ความยาว 16 ตอนๆ ละ 15 นาที ทุกวันอังคาร และพฤหัสบดี เวลา 19:30 น. เริ่มตอนแรกในวันที่ 23 มิถุนายน 2565 และหลังจบละครจะมีการสนทนาสดต่อเนื่องเพื่อหยิบยกประเด็นในละครแต่ละตอนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักแสดงและผู้ชม เช่น เรื่อง Soft Power โรค tics ติดอ่าง เรื่องการพัฒนาตนเอง การควบคุมอารมณ์ การเลี้ยงเด็ก ปัญหาครอบครัว เหล่านี้เป็นต้น