จากกระแสข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า จะมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เฉพาะกลุ่มคนยากจน จนล่าสุดนายอนุกูล ปีดแก้ว รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ออกมายืนยันแล้วว่า ยังคงจ่ายเงินให้แบบถ้วนหน้าเหมือนเดิม และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ปัจจุบันการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นแบบขั้นบันได ดังนี้
- อายุ 60 -69 ปี จะได้รับ 600 บาท
- อายุ 70 -79 ปี จะได้รับ 700 บาท
- อายุ 80 -89 ปี จะได้รับ 800 บาท
- อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท
คุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
- สัญชาติไทย
- มีอายุ 59 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (ในกรณีที่ทะเบียนราษฎร์ระบุเฉพาะปีเกิด ให้ถือว่าบุคคลนั้นเกิดวันที่ 1 มกราคมของปีนั้น เช่น เกิด พ.ศ.2497 ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 มกราคม 2497
- ขอรับเบี้ยตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
- ไม่เป็นผู้ที่ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเทศบาล อบต.ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือเทศบาล อบต.จัดให้เป็นประจำ ยกเว้นผู้พิการและผู้ป่วยเอดส์ตามระเบียบ
เอกสารที่ต้องใช้
-สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ชุด
-สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ชุด
-สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก(ออมทรัพย์) จำนวน 1 ชุด
สามารถยื่นเอกสารแทนผู้สูงอายุได้ และหากผู้สูงอายุมีความประสงค์โอนเงินเข้าบัญชีผู้อื่น ต้องมีหนังสือมอบอำนาจ ตัวจริงพร้อมสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจอย่างละ 1 ชุด
ทั้งนี้ผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนไว้ ตั้งแต่วันที่ 1- 30 พฤศจิกายน ของทุกปี จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ของปีถัดไป (ไม่มีการจ่ายย้อนหลัง)
หมายเหตุ
- ในกรณีผู้สูงอายุที่มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุย้ายทะเบียนบ้านให้เทศบาล หรือ อบต.ที่เคยจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดิมยังคงจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจนกว่าจะสิ้นสุดปีงบประมาณนั้น คือเดือนกันยายน หากมีความประสงค์จะรับเบี้ยยังชีพกับเทศบาล หรือ อบต. แห่งใหม่ ต้องไปจดทะเบียนเพื่อขอรับเบี้ยยังชีพที่เทศบาลหรือ อบต.แห่งใหม่ ภายในวันที่ 1 -30 พฤศจิกายนของทุกปี และเริ่มรับเงินที่ใหม่ในเดือนตุลาคม ของปีถัดไป
- เอกสารต้องลงลายมือชื่อ สำเนาถูกต้องทุกฉบับ
- ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเขียนได้ ให้พิมพ์ลายมือแทน