กรมชลฯเตือนระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ปภ.แจ้ง 10 จว.ระวังน้ำล้นตลิ่ง

24 ก.ย. 2564 | 10:55 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2564 | 18:06 น.

กรมชลฯ แจ้งเตือนระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ปภ. แจ้ง 10 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพฯเฝ้าระวังผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา

กรมชลฯเตือนระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ปภ.แจ้ง 10 จว.ระวังน้ำล้นตลิ่ง

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เนื่องจาก พายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางนาม ประเทศเวียดนาม มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 260 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้บริเวณจังหวัดอำนาญเจริญของประเทศไทย คาดว่าจะอ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชันเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณจังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานีของประเทศไทยในวันนี้ (24 ก.ย. 64) 

ทำให้ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าจากเเม่น้ำวัง เเม่น้ำปิง เเม่น้ำยม และเเม่น้ำน่าน ไหลลงสู่เเม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน (24 ก.ย.64) เวลา 06.00 น. ที่สถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,112 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 
 

คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.2 ในวันที่ 27 ก.ย.64 ในอัตรา 2,441 ลบ.ม./วินาที เมื่อรวมกับน้ำท่าจากเเม่น้ำสะเเกกรังประมาณ 200 ลบ.ม./วินาที จะทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กรมชลประทาน จึงปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จากอัตรา 1,951 ลบ.ม./วินาที เป็นอัตรา 2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่นอกคั้นกันน้ำ บริเวณคลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ชุมชนแม่น้ำน้อย (ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา) คลองโผงเผง จ.อ่างทอง วัดไชโย จ.อ่างทอง และ อ.พรหมบุรี อ.เมือง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ระดับน้ำจะสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 75 เซนติเมตร ในช่วงเช้าของวันที่ 26 ก.ย. 64 
.
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยงสามารถปฏิบัติงานได้ทันที และได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานกาณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
 

ปภ. แจ้ง 10 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพฯเตรียมพร้อมรับมือน้ำล้นตลิ่ง

24 ก.ย.64 เวลา 17.00 น. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 10 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง 

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำกับ กรมชลประทาน พบว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยมีฝนตกสะสมและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 24 – 26 กันยายน 2564 ส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 1 เมตร ในระหว่างวันที่ 24 – 26 กันยายน 2564

ปภ.จึงได้ประสาน 10 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ตลอดจนศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหารริมน้ำ แพเรือโดยสารสาธารณะ เป็นต้น และประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด

รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม และระมัดระวังอันตรายจากการสัญจรทางน้ำ ตลอดจนประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง