เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือกรณีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จนทำให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ว่า มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของกระทรวงแรงงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้คือ
1) ระยะก่อนเกิดภัย เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และมีแนวโน้มจะมีการเลิกจ้าง จัดเตรียม จัดหาแรงงานที่มีความรู้ทางเทคนิค จัดเตรียมวิทยากรฝึกอาชีพในสาขาที่มีความจำเป็น เพื่อระดมสรรพกำลังทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ กำลังคน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ข่าวสารไปยังสถานประกอบการผ่านสื่อต่างๆ จัดทำแผนรองรับและดำเนินการตามแผน สำรวจ จัดเตรียม จัดหา ความพร้อมของอุปกรณ์ เครื่องมือ บุคลากร และยานพาหนะเพื่อใช้ในการให้ความช่วยเหลือ จัดทำสุขาลอยน้ำ เป็นต้นตรวจสถานประกอบกิจการให้ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน
2) ระยะเกิดภัย จัดเตรียมแผนการตรวจสอบข้อมูลแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยเพื่อให้การช่วยเหลือคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานแก่ผู้ประกันตนกรณีนายจ้างหยุดให้บริการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
3) ระยะฟื้นฟูภายหลังน้ำลด การออกประกาศขอความร่วมมือจากสถานประกอบการให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลาหรือเป็นความผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ให้บริการจัดหางานและส่งเสริมการประกอบอาชีพ โครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือ โดยสนับสนุนค่าตอบแทน รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ฝึกอาชีพ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้อย่างต่อเนื่อง สามารถดำรงชีพได้หลังจากน้ำลดและรอการฟื้นฟู จัดหน่วยให้บริการซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร เพื่อลดรายจ่ายของประชาชนที่อุปกรณ์ไฟฟ้าได้รับความเสียหาย รวมถึงตรวจสอบความปลอดภัยของสายไฟภายในบ้าน ดูแลสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประสบภัย ทั้งในเรื่องสิทธิประกันสังคม สิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานภายหลังน้ำลด จัดทีมแพทย์และพยาบาลร่วมกับโรงพยาบาลในเครือข่ายให้บริการตรวจรักษาเบื้องต้นในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น
“รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไปทุกคนที่ประสบปัญหาอุทกภัยได้รับความเดือดร้อน โดยได้สั่งการให้แต่ละหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องบูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นการเร่งด่วน ทั้งการขนย้าย อพยพ เร่งระบายน้ำ การมอบสิ่งของเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
รวมถึงจัดให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์อุทกภัยอย่างต่อเนื่อง ผมจึงได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดแต่ละจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เร่งบูรณาการสนับสนุนความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้างผู้ประกันตน และประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนกับทางจังหวัดในแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายประชาชนไปในสถานที่ที่ปลอดภัย จัดที่พักพิงชั่วคราว และสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภคของใช้ที่จำเป็นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น” รมว.แรงงาน กล่าว