จากกรณีที่ “อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร” ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ประสบปัญหาปริมาณน้ำเกินความจุเก็บกัก มีน้ำล้นทางน้ำล้น (สปิลเวย์) และทำนบดินที่ก่อสร้างอาคารและทางระบายน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำตอนล่างชำรุด น้ำจึงไหลลงตรงที่ก่อสร้างทางประตูระบายน้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า GISTDA ได้เปิดภาพเปรียบเทียบข้อมูลจากดาวเทียม COSMO Skymed-1 ของวันที่ 24 ก.ย. 2564 (ภาพซ้าย) กับ วันที่ 27 ก.ย. 2564 (ภาพขวา) พบพื้นที่น้ำท่วม (สีฟ้า) ทางตอนล่างของ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา กว่า 7,600 ไร่
ส่งผลให้พื้นที่ที่อยู่ทางตอนท้ายของอ่างฯ ซึ่งประกอบด้วยลำน้ำสาขา พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ริมตลิ่ง มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ GISTDA ยังได้วิเคราะห์ และจัดทำแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม COSMO-SkyMed-4 วันที่ 27 ก.ย. 2564 เวลา 05.58 น. พบพื้นที่น้ำขังบริเวณบางส่วนในจ.ชัยภูมิ ขอนแก่น เพชบูรณ์ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ รวมประมาณ 492,000 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ลุ่มต่ำ
GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนตกหนัก อย่างต่อเนื่อง
ตรวจสอบพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ http://flood.gistda.or.th
ขณะที่ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า บริเวณอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) กำลังก่อสร้างอาคารและทางระบายน้ำ ซึ่งดำเนินการก่อสร้างไปแล้วร้อยละ 70 แต่ขณะก่อสร้างมีฝนตกหนัก ทำให้อ่างลำเชียงไกร (ตอนล่าง) มีปริมาณน้ำเกินความจุเก็บกัก
ปัจจุบัน (26 ก.ย.64) มีปริมาณน้ำ 41.69 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 151 % ของความจุอ่างฯ มีน้ำล้นสปิลเวย์ (Spillway) มาสมทบกับบริเวณที่กำลังก่อสร้าง ประกอบกับช่วงที่ก่อสร้างได้ใช้ทำนบดินกั้นน้ำไว้ เมื่อมีปริมาณน้ำมากเกินกว่าที่อ่างเก็บน้ำจะรับไหว จึงส่งผลให้ทำนบดินไซด์ก่อสร้างชำรุด น้ำจึงไหลลงตรงที่ก่อสร้างทางประตูระบายน้ำ
ยืนยันว่าตัวอ่างและสันอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร มั่นคงแข็งแรง แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มากเกินความจุอ่างฯ จึงทำให้น้ำล้น
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ริมน้ำและพื้นที่ท้ายอ่างฯ ได้แก่ อำเภอโนนไทย และอำเภอโนนสูง เก็บทรัพย์สิน สิ่งของมีค่าต่าง ๆ ขนย้ายขึ้นที่สูง พร้อมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำหลากต่อไปแล้ว
ที่มา : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)