รายงานข่าว GiSTDA โดยข้อมูลจากดาวเทียม COSMO-SkyMed-1 พบว่า ขณะนี้มีการระบายน้ำเข้าทุ่งในเขตพื้นที่ภาคกลางอย่างต่อเนื่อง จากภาพจะเห็นว่าทุ่งรับน้ำทั้ง 8 แห่ง ทุ่งผักไห่มีน้ำเข้าทุ่งมากที่สุดกว่า 84,950 ไร่ ตามด้วยทุ่งเจ้าเจ็ด 65,185 ไร่/ ทุ่งบางกุ่ม 24,382 ไร่/ ทุ่งป่าโมก 18,260 ไร่/ ทุ่งบางบาล 9,778 ไร่/ ทุ่งโพธิ์พระยา 4,276 ไร่/ ทุ่งบ้านแพน 3,080 ไร่ และทุ่งบางกุ้ง 278 ไร่ รวมแล้วกว่า 2 แสนไร่ แต่หากรวมทุ่งรับน้ำที่เหลืออีก 5 ทุ่ง รวมแล้วอยู่ที่ประมาณ3.1 แสนไร่ ซึ่งคาดว่าจะมีการผันน้ำเข้ามาในทุ่งรับน้ำต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อชะลอน้ำก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสายหลักและออกอ่าวไทยต่อไป
ข้อมูลภาพจากดาวเทียมเหล่านี้ GISTDA จะส่งต่อให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน การติดตาม การประเมินสถานการณ์ และการฟื้นฟูความเสียหายต่อไป
ทั้งนี้ GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง และสามารถตรวจสอบพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่
นอกจากนี้ GISTDA ยังเปิดภาพจากดาวเทียม Sentinel-1 เปรียบเทียบ 3 ช่วงเวลาเหตุการณ์บริเวณอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2564, 30 กันยายน 2564 และล่าสุด 4 ตุลาคม 2564 ที่ถ่ายได้เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ โดยสีดำในภาพคือพื้นที่น้ำ จะเห็นว่าพื้นที่น้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด ปริมาณน้ำจำนวนมากเข้าท่วมพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ทางตอนล่างของอ่าง อาทิ พื้นที่เกษตรกรรม บ้านเรือนชุมชน เป็นต้น
ขณะนี้มวลน้ำดังกล่าวอยู่บริเวณ อ.ประทาย อ.พิมาย อ.โนนแดง อ.คง อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา มุ่งหน้าสู่ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี เพื่อออกสู่แม่น้ำโขงต่อไป