กู้วิกฤติ “นักเรียนช้างเผือก” ลดหายไปจากประเทศไทย

08 ต.ค. 2564 | 09:11 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2564 | 16:24 น.

กู้วิกฤตินักเรียนช้างเผือก ลดหายจากไทย กระทรวง อว. กสศ. และ ทปอ. ร่วมจับมือพัฒนา “ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ดร.ประสาร ชี้ ปรากฎการณ์ The Lost Einsteins ในไทย มีเพียง 8 ใน 100 คนเท่านั้น ที่ได้เรียนมหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564  ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ระดับอุดมศึกษา โดยมีดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายแพทย์สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เผชิญชัยภัต ไชยสิทธิ์ เลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รองศาสตราจารย์สมหมาย ผิวสะอาด ประธานที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และผู้ช่วยศาสตราจารย์จรูญ ถาวรจักร ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ร่วมลงนาม

กู้วิกฤติ “นักเรียนช้างเผือก” ลดหายไปจากประเทศไทย

ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า  ความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ  กระทรวง อว. จึงให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทั้งด้านโอกาส และคุณภาพ การลงนามในวันนี้จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่หน่วยงานของกระทรวง อว. จะได้ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  สร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา โดยการบูรณาการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลและใช้ข้อมูลนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์  ผู้ด้อยโอกาสในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา  

“เรื่องนี้เป็นความพยายามปฏิรูปการศึกษา เราต้องสนับสุนนเต็มที่ ต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ มิใช่ทำแบบงานประจำ ผลจากการให้โอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ใช่แค่ช่วยให้คนที่ขาดแคลนได้ร่ำเรียนเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงความเป็นเลิศและคุณภาพทางการศึกษาของประเทศที่เพิ่มขึ้น”

กู้วิกฤติ “นักเรียนช้างเผือก” ลดหายไปจากประเทศไทย
 

รมว.อว.กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีช้างเผือกไม่น้อยที่มีคุณภาพสูง เพราะธรรมชาติของเด็กเหล่านี้จะมีความอดทน มุ่งมั่น พร้อมฝ่าฟันอุปสรรค เราจึงต้องนำพวกเขามาฟูมฟักและฝึกปรือ โดย อว. จะต้องมีการดูแลและจัดระบบการเรียนการสอน พร้อมทั้งระบบสนับสนุนเป็นพิเศษ เพื่อทำให้เด็กเหล่านั้นสามารถแสดงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวได้อย่างเต็มที่ เหมือนที่ตนเคยพูดอยู่บ่อยครั้งว่า ช้างเผือกมักจะเกิดในป่าลึก หากได้พวกเขามาเป็นกำลังในการสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าของประเทศ ที่เรียกว่า Frontier Research เขาจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนอื่น ๆ ได้เห็นว่าผู้ด้อยโอกาสก็มีความสามารถหากได้รับโอกาสที่เหมาะสม เราจะเปลี่ยนจากผู้ด้อยโอกาสให้เป็นผู้มีโอกาส เป็น “หัวกะทิทางการศึกษา” ที่จะก้าวไปทำผลงานที่มีความสำคัญให้กับประเทศและในระดับนานาชาติ

กู้วิกฤติ “นักเรียนช้างเผือก” ลดหายไปจากประเทศไทย

“วันนี้ถึงเวลาที่เราจะส่งมอบข้อมูลนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษจำนวน 11,541 คน  ที่ผ่านระบบ TCAS64 ได้สำเร็จ โดยทางที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เตรียมรับนักศึกษาเข้าอยู่ในความดูแล ทั้งนี้ อว. ได้กำหนดให้นโยบายการทำงานครั้งนี้ จะไม่เป็นเพียงเรื่องของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาให้ดีขึ้น ” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก  กล่าว
กู้วิกฤติ “นักเรียนช้างเผือก” ลดหายไปจากประเทศไทย

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า  ผลการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard, MIT และ Stanford ที่ได้ติดตามศึกษาข้อมูลเชิงลึกของ “นวัตกร” ในสหรัฐอเมริกามากกว่า 1,000,000 คน ชี้ให้เห็นว่า เด็กเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้สูงมีโอกาสมากกว่าเด็กเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย 10 เท่า ในการเติบโตขึ้นเป็นนวัตกรที่สามารถจดสิทธิบัตรได้สำเร็จ

กู้วิกฤติ “นักเรียนช้างเผือก” ลดหายไปจากประเทศไทย

ผลการวิจัยนี้ชี้ว่า เด็กช้างเผือก (Resilient Students) จากครัวเรือนยากจนที่สุดของประเทศ แม้จะมีพรสวรรค์มากเพียงใด แต่หากขาดโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาค และระบบนิเวศในการส่งเสริมการพัฒนาพรสวรรค์ในระยะยาว ก็ไม่สามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพได้ และประเทศจะสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ The Lost Einsteins สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากยูเนสโก ปี 2558 ระบุว่าเยาวชนจากครอบครัวที่ฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศมีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ ต่ำกว่าเด็กที่มาจากครัวเรือนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศกว่า 6 เท่า

ดร.ประสารกล่าวว่า กสศ. มีฐานข้อมูลจากการสำรวจติดตามนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษปีละมากกว่าหนึ่งล้านคน โดยในแต่ละปีจะมีนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่าหนึ่งแสนคนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับในช่วง ม.3 แต่ในจำนวนนี้จะเหลือนักเรียนเพียงหนึ่งหมื่นคนที่ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายจนเข้าสอบผ่านระบบ TCAS ได้เรียนมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ หรือคิดเป็นเพียง 10% เท่านั้น เยาวชนกลุ่มนี้คือช้างเผือกที่มีความสามารถ และนำมาสู่ความร่วมมือ ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อสนับสนุนการจัดสรรทุนการศึกษาจากแหล่งทรัพยากรต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมากกว่า 80 แห่ง เพื่อให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ก้าวไปเป็นทรัพยากรบุคคลระดับมันสมองของชาติต่อไป เชื่อว่าถ้าทำในส่วนนี้สำเร็จ จะถือเป็นการยกระดับการศึกษาของประเทศได้อย่างมาก

ดร.ประสาร  กล่าวว่า ภารกิจ กสศ.ที่ทำมาตลอด คือป้องกันไม่ให้เด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสหลุดจากระบบการศึกษา อย่างน้อยต้องจบการศึกษาภาคบังคับ อีกส่วนหนึ่งคือสนับสนุนให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงที่สุด ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษานี้แม้จะเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ในระยะยาวจะเป็นเครื่องมือสนับสนุนการกำหนดและติดตามนโยบายความเสมอภาคทางการศึกษาตลอดทุกช่วงวัยของประเทศที่สำคัญ ช่วยให้ประเทศไทยมีระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลรายบุคคลและรายสถานศึกษาระยะยาว (Longitudinal Database) ครอบคลุมเด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านคนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ 

กู้วิกฤติ “นักเรียนช้างเผือก” ลดหายไปจากประเทศไทย

รวมถึงภาคเอกชน และประชาชน ช่วยเหลือให้สามารถศึกษาต่อไปจนถึงระดับสูงสุดตามศักยภาพตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยในอนาคต กสศ. มีแผนจะเพิ่มความครอบคลุมของระบบสู่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสประเภทอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ผู้พิการ กำพร้า หรือกลุ่มชาติพันธ์ เป็นต้น เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคนในประเทศไทยมีหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง

ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา  กล่าวว่า การที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของ Big Rock ที่ 1 และ Big Rock ที่ 5 อย่าง กสศ. กระทรวง อว. และที่ประชุมอธิการบดี ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลรายบุคคลของเด็กเยาวชนตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อให้ประเทศไทยเกิดระบบข้อมูลสารสนเทศขนาดใหญ่ (Big Data) จะเป็นรากฐานที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายของแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาในการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาคให้แก่เด็กเยาวชนทุกคนในประเทศไทยอย่างยั่งยืนในอนาคตความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐในครั้งนี้ จะเป็นประตูในการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน ที่หวังอยากเห็นเด็กเยาวชนทุกคน 

ไม่ว่าจะเกิดมาในครอบครัวและพื้นที่แตกต่างกันเพียงใด ก็ล้วนมีหลักประกันโอกาสที่เสมอภาคด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเองและสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของตนเอง ครอบครัว และเพื่อการพัฒนาประเทศไทยให้สามารถออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืนตามกรอบของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ด้าน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบอุดมศึกษา ควรเริ่มต้นขึ้นก่อนที่นักเรียนจะสมัครสอบเข้า  การบูรณาการฐานข้อมูลตลอดทุกช่วงวัย ตั้งแต่ปฐมวัยถึงอุดมศึกษา ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา จะเป็นตัวเปลี่ยนเกม (Game Changer) ที่จะช่วยเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งหน่วยงานวิจัยและนโยบายการอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้องสามารถก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัยทำงานร่วมกับสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อค้นหาแนวทางการปฏิรูปเชิงระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตั้งแต่ต้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลายปัจจัยมีความหลากหลายและซับซ้อนไปตามบริบทของพื้นที่และครอบครัว ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานี้ แม้จะเป็นปัญหาระดับชาติ แต่ต้องการมาตรการระดับพื้นที่ จึงจะสามารถสร้างความก้าวหน้าในการปฏิรูปได้อย่างยั่งยืน

“หน่วยงานภายใต้ความร่วมมือนี้ควรช่วยพัฒนามาตรการที่เชื่อมโยงกัน ระหว่างการศึกษาและการประกอบอาชีพที่มั่นคง เพื่อให้ผลจากการทำงานของระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา สามารถส่งผลเชิงระบบไปสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความยากจนของประเทศได้อย่างยั่งยืน ผมเชื่อว่าเด็กๆ เยาวชนที่จะได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจำนวนมากนี้ อาจจะมีบางคนที่เป็นสมาชิกครอบครัวรุ่นแรก ๆ ที่มีโอกาสสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา หากประชากรของไทยกลุ่มนี้ ซึ่งรุ่นคุณพ่อคุณแม่มีรายได้น้อยที่สุด ร้อยละ 10-20 ของประเทศ สามารถสำเร็จการศึกษาและมีงานทำ มีรายได้ และความมั่นคงอยู่ในระดับกลาง ๆ ของประเทศได้ ย่อมจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคม (Social Mobility) ที่จะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต และลดความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจสังคมไทยได้ไปพร้อมๆ กัน” ดร.กฤษณพงศ์  กล่าว