เมื่อวันที่ 9 ต.ค. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ Clean Energy for All : พลังงานสะอาดเพื่อการสร้างธุรกิจ ในหลักสูตรของโครงการ Cleantech for Business เทคโนโลยีสะอาดเพื่อการสร้างธุรกิจ ผ่านโปรแกรม ZOOM โดยนำเสนอการพัฒนาที่ยั่งยืนกับการปรับตัวขององค์กรธุรกิจภายใต้แนวคิด “CLEAN” เริ่มจาก C คือ Climate action ที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกนำมากำหนดเป็นพันธสัญญาเพื่อออกระเบียบต่างๆ เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องเตรียมการรองรับให้เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบธุรกิจ เพราะเรื่องนี้จะเกิดมิติใหม่ในทิศทางของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน
L คือ Low carbon โดยการลดการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นหลักการสำคัญ การลงทุนด้านธุรกิจสีเขียวจะเป็นคำตอบ การลงทุนในปัจจุบันกำลังหันไปสนใจในกลุ่มกิจการด้านความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น E คือ Energy Mix เพราะการพึ่งพาเพียงพลังงานฟอสซิลไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป ในปี 2019 เราได้เห็นพัฒนาการที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการนำศักยภาพของแหล่งพลังงานหมุนเวียนมาใช้ มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ฟาร์มกังหันลม และสร้างระบบไมโครกริดที่พึ่งพาแหล่งพลังงานหมุนเวียน ปัจจัยต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นความต้องการเทคโนโลยีในการผลิตและส่งไฟฟ้าที่ทันสมัย นโยบายส่งเสริมพลังงานสีเขียวของรัฐบาล และความต้องการแหล่งพลังงานที่มั่นคง เชื่อถือได้โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลักในภาวะฉุกเฉิน ล้วนส่งผลให้ตลาดไมโครกริดขยายตัว
A คือ Appropriate process โดยกระบวนการผลิตรูปแบบใหม่ต้องเป็นมากกว่าการลดต้นทุน แนวโน้มกระบวนการผลิตในอนาคตจะหันมาให้ความสนใจกับประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และ N คือ New Innovation ซึ่งนวัตกรรมทางเศรษฐกิจใหม่คือทางรอดสู่การพัฒนาที่ยังยืน ธุรกิจจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้เริ่มชี้ชัดถึงโอกาสที่เป็นไปได้ในการนำรูปแบบธุรกิจแบบหมุนเวียน ในขณะเดียวกันหลายองค์กรได้นำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพลิกสร้างความยั่งยืน
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังถือว่าไม่ช้าเกินไป ในวันที่ประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสนใจพลังงานสะอาด เพราะหลายประเทศเพิ่งประกาศออกมา เช่น จีน อินเดีย ปัจจุบันแผนพัฒนาพลังงานฉบับใหม่ของไทยให้ความสำคัญอย่างมากกับความเป็นกลางทางคาร์บอน และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน สอดคล้องกับกระแสทั่วโลกที่กำลังหันมาให้ความสนใจกับเรื่องนี้ เพราะความเป็นกลางทางคาร์บอนไม่ใช่เป็นเพียงนโยบายเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น แต่มันคือเส้นทางที่ทุกประเทศต้องเดินร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ที่สำคัญรัฐบาลไทยในอนาคตต้องหันมาให้ความสนใจกับการช่วยภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการผลิตให้มีความสะอาดและลดการปล่อยคาร์บอน เพราะในอนาคตเรื่องสิ่งแวดล้อมเหล่านี้จะไม่ได้เป็นเพียงความพยายามในการลดปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่มันจะกลายเป็นข้อกำหนดของหลายประเทศในการนำเข้าสินค้าด้วย
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังกล่าวถึงการขนส่งด้วยรถยนต์พลังงานไฟฟ้า(EV) ไม่ว่าจะเป็น รถส่วนบุคคลหรือรถสาธารณะ จะต้องบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านให้ดี เพราะถ้าเปลี่ยนผ่านไม่ดี ก็จะเป็นการทำลายจุดแข็งของประเทศไทยในบางเรื่อง เช่น อุตสาหกรรมการผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศ
“สิ่งที่ต้องพึงระวังคือรถยนต์ไฟฟ้าจากบางประเทศที่เข้าสู่ประเทศไทยในภาษีเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นข้อตกลงเก่าแก่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เรายังไม่เข้าใจเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ว่าวิ่งในถนนได้ เพราะวันที่เราตกลงกันนั้น เรายังคิดว่ารถยนต์ไฟฟ้าคือรถกอล์ฟ ดังนั้น ถ้าเราเปลี่ยนผ่านเร็ว รถยนต์ไฟฟ้าจากบางประเทศจะเข้ามาครองตลาดในประเทศไทย สิ่งที่สำคัญคือเราจะรักษาอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เราเป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออกไว้ได้อย่างไร ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านมาใช้รถยนต์อีวี ไม่ใช่เปลี่ยนผ่านแล้วสร้างปัญหาใหม่ให้เรา” นายสนธิรัตน์ กล่าว