วันที่ 11 ต.ค.64 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยข้อเสนอมาตรการคลายล็อกดาวน์ ที่จะเสนอต่อที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 14 ตุลาคมนี้ว่า จะเสนอที่ประชุม ศบค. ลดจำนวนจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมสูงสูงและเข้มงวดลง พื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือสีแดง ก็จะลดลง โดยจะไปเพิ่มพื้นที่ควบคุม หรือสีส้มมากขึ้น
ซึ่งยังมี 3 โซนพื้นที่ หรือ 3 สีอยู่ และจะมีผลต่อการทำกิจการ กิจกรรม มีการผ่อนคลายมากขึ้น โดย ศบค.จะพิจารณาอีกครั้ง ส่วนจะอนุญาตนั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้หรือไม่นั้น ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวด้วยว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์การติดโควิด-19 ในประเทศไทย ปัจจุบันตัวเลขการติดเชื้อยังสูงอยู่ในหลักหมื่นราย เสียชีวิต 60 ราย แต่ที่ลดลงแน่นอนคือ กทม. เนื่องจากฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรได้มากขึ้น การเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยงก็ลดลง ส่วนต่างจังหวัดค่อนข้างทรงตัว
ที่ผ่านมาพยายามดูใน 71 จังหวัดที่เหลือ เมื่อแยกพื้นที่ออกมาพบภาคใต้ที่ติดเชื้อเยอะ โดยสถานการณ์ติดเชื้อใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ คือ สงขลา นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ตอนนี้เร่งดำเนินการควบคุมป้องกันโรค และส่งวัคซีนไฟเซอร์ลงไปเติม 5 แสนโดส ซึ่งที่ส่งไฟเซอร์ลงไปมากนั้น เพราะในพื้นที่ติดเชื้อสายพันธุ์เบต้า
ส่วนเรื่องล็อกดาวน์ 4 จังหวัดภาคใต้นั้น ยังเป็นเพียงเป็นแนวคิด ขึ้นอยู่กับการควบคุมโรคในพื้นที่ด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งมาตรการส่วนบุคคล มาตรการสังคม การฉีดวัคซีน หากยังไม่สามารถควบคุมโรคได้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสามารถพิจารณาได้ อาจจะล็อกเป็นบางพื้นที่ หรือล็อกทั้งจังหวัด
“ภาคใต้ขึ้น ก็ทำให้ตัวเลขดึงขึ้นไป แต่ขณะเดียวกันก็ยังลงไม่ค่อยดี ลงอย่างช้าๆ แสดงว่ามีบางจังหวัดยังติดเชื้ออยู่ ก็ให้กรมควบคุมโรคแยกภาค เห็นได้ว่าภาคเหนือและอีสานติดเชื้อค่อนข้างต่ำ แต่ภาคกลางและตะวันออกค่อนข้างสูง เช่นเดียวกับภาคใต้ ฉะนั้น เราก็จะโฟกัสที่ภาคใต้ ตะวันออก และภาคกลางบางแห่ง”นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ด้าน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวถึงมาตรการคลายล็อกดาวน์ตอนหนึ่ง ว่า การประชุมศบค. ชุดใหญ่ที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคมนี้ จะต้องเป็นเรื่องของจังหวัดที่มีการผ่อนคลาย และสิ่งสำคัญคือจะมีการหารือ เรื่องจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวระยะที่หนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น สมุย ซึ่งจะเปิดในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
จากตัวเลขผู้ติดเชื้อ อาจจะไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทางสาธารณสุขจะพิจารณาหากมีรายงานผู้ติดเชื้อสูงจริง แต่มีมาตรการที่สามารถเข้าไปดูแลผู้ป่วยให้ปลอดภัยได้ มีการจัดการผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำได้อย่างเหมาะสม ศบค. อาจจะสามารถพิจารณาผ่อนคลายต่อไปได้ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือที่ภูเก็ต ที่มีนักท่องเที่ยวเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ กว่า 4 หมื่นกว่าราย และมีรายงานผู้ติดเชื้อแค่ 100 ราย คิดเป็น 3% และภูเก็ตสามารถทำการควบคุมการแพร่ระบาด ในชุมชนคนไทยของภูเก็ตได้ดี เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้จะมีรายงานผู้ติดเชื้อแต่ถ้าเรามีมาตรการที่จัดการได้ดีก็สามารถผ่อนคลายได้อย่างแน่นอน
และในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ โฆษกศบค.จะมารายงานรายละเอียดของผลการประชุมศบค.ชุดใหญ่ให้ได้รับทราบ