ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค.64 กรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้เผยแพร่ประกาศกรุงเทพมหานคร ลงนามโดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 44) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 16 ต.ค.64 นี้
ข้อความระบุถึงการปรับปรุงและผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรคต่างๆ ที่ได้กำหนดขึ้นให้สอดคล้องกับภาพรวมของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศ ที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แหง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 (ฉบับที่ 32) ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2564 (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 28 กันยายน 2564 และ (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 30/2564 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
1.ให้ปิดสถานที่ตามข้อ 1 ของประกาศ กทม.เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 43) ลงวันที่ 29 กันยายน 2564 และให้ดำเนินการตามข้อ 2 ของประกาศดังกล่าว เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ และให้สถานที่ดังต่อไปนี้ สามารถเปิดดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะโดยเคร่งครัด
1.1 ให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้แล้ว และมีเงื่อนไขเรื่องกำหนดเวลาทำการไว้ตามประกาศ กทม.เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 43) ลงวันที่ 29 กันยายน 2564 เช่น ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ ห้างสรรพสินค้า สนามกีฬา สวนสาธารณะ สามารถเปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติแต่ไม่เกินเวลา 22.00 น. เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเวลาการห้ามออกนอกเคหสถาน
1.2 ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด หรือตลาดนัด สามารถเปิดเพื่อการจำหน่ายสินค้าได้ทุกประเภท ตามเวลาปกติจนถึงเวลา 22.00 น. โดยการเปิดให้บริการเครื่องเล่นในสถานที่ดังกล่าว ให้สำนักงานเขตพื้นที่ประเมินและพิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสม สำหรับร้านสะดวกซื้อที่เปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดการให้บริการในช่วงระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
1.3 ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ สามารถเปิดให้บริการในลักษณะของการดูแลผู้สูงอายุแบบเช้าไปเย็นกลับได้ โดยให้สำนักอนามัยกทม.พิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสม โดยกำหนด เงื่อนไขให้ผู้รับบริการและบุคลากรเจ้าหน้าที่ต้องได้รับการฉีดวัคนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด และให้ผู้ประกอบการสุ่มตรวจบุคลากรเจ้าหน้าที่ทุกสัปดาห์โดยการใช้ชุดตรวจ และน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-COV-2 (เชื้อก่อโรค COMID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง เพื่อยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 หรือโดยวิธีการที่ทางราชการกำหนด
1.4 โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ หรือสถานที่ที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการเพื่อการจัดประชุม สัมมนา หรือการจัดงานพิธีตามประเพณีนิยมได้จนถึงเวลา 22.00 น. โดยห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และให้ปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัย สำหรับองค์กรที่กำหนด เช่น การจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน การให้ผู้เข้าร่วมงานสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา การจัดให้มีช่วงเวลาพักเพื่อการระบายอากาศของห้องประชุม การจัดเตรียมอาหารแบบแยกเป็นชุด การเว้นระยะห่างไม่ให้แออัด รวมทั้งดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานส่งเสริม การจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กำหนดอย่างเคร่งครัด
1.5 ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่น ที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการเพื่อการจัดประชุม สัมมนา หรือการจัดงานพิธีตามประเพณีนิยมได้ จนถึงเวลา 22.00 น. โดยห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และให้ปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กรที่กำหนด เช่นเดียวกับกรณีตามข้อ 1.4 โดยยังคงให้งดกิจกรรมส่งเสริมการขายและปิดให้บริการในส่วนที่เป็นร้านเกม ตู้เกม เครื่องเล่น สวนสนุก และสวนน้ำ
1.6 สนามเด็กเล่น เครื่องเล่นสำหรับเด็กโดยให้สำนักงานเขตพื้นที่ ประเมินและพิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสม
2.ห้ามการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน โดยให้เป็นไปตามข้อห้ามและข้อยกเว้นตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 33) ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 27 มิถุนายน2564 และข้อกำหนดออกตามความ ในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564
ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิด ตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นง
ประกาศ ณ วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2564