ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในวันที่ 1 พ.ย. 2564 นี้ ทางการไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศโดยไม่ต้องกักตัว ซึ่งชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาต้องได้รับการฉีดวัคซีนโควิดครบโดสและมีเงื่อนไขการตรวจหาเชื้อโควิดทั้งก่อนและเดินทางมาถึงไทย
พร้อมกันนี้ ยังมีการกำหนด “กลุ่มประเทศ” ตามระดับความเสี่ยง และเงื่อนไขในการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ ยังคงต้องรอการพิจารณาเพิ่มเติมจากทางการ นอกจากนี้ ทางการมีแผนเปิดจังหวัดเพิ่มเติมเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น โดยในเดือนพ.ย. 2564 จะเปิดพื้นที่นำร่องรวม 15 จังหวัด (พื้นที่สีฟ้า) แต่ทั้งนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดที่ต้องไม่มีการระบาดรุนแรงหรือเกิดคลัสเตอร์ใหม่ในพื้นที่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว ตั้งแต่ วันที่ 1 พ.ย. 2564 นับเป็นหมุดหมายสำคัญที่สะท้อนถึงความพยายามจากทุกภาคส่วนที่จะพลิกฟื้นภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาเดินหน้าต่อได้หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากโควิดที่ยาวนาน อีกทั้ง ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีคาบเกี่ยวไปถึงช่วงต้นปีถัดไป นับว่าเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมักจะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์โควิดในประเทศที่แม้จะนิ่งขึ้นแต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ ขณะเดียวกันสถานการณ์โควิดและนโยบายการเดินทางออกนอกประเทศที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ในบางประเทศยังกำหนดให้ต้องมีการกักตัวหลังเดินทางกลับ เป็นต้น ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยในช่วง พ.ย. - ธ.ค. 64 อาจจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยน่าจะเห็นผลที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายเดือนธ.ค. นี้
ทั้งนี้ ผลจากการเปิดประเทศน่าจะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 64% เมื่อเทียบกับที่ไม่มีมาตรการซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งปี 2564 ขยับขึ้นมาที่ประมาณ 1.8 แสนคน (จากคาดการณ์เดิมที่ 1.5 แสนคน)
สร้างรายได้คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.35 หมื่นล้านบาท โดยรายได้การท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังกระจายอยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ ในกรณีที่สถานการณ์ต่างๆ ปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องคงจะช่วยหนุนให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยมีความชัดเจนมากขึ้นอีกในช่วงปี 2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติสำคัญอย่างจีนและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนกลับมาท่องเที่ยว
โดยชาวต่างชาติที่จะเดินทางมาน่าจะได้แก่ นักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ ยุโรป บางประเทศในเอเชียและตะวันออกกลาง ซึ่งนอกจากมาจากประเทศที่เข้าข่ายตามเงื่อนไขของทางการแล้ว (เช่น อัตราการฉีดวัคซีนสูงหรือจัดการโควิดได้ดี) ก็น่าจะเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมากในจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทย นับตั้งแต่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม STV (Special Tourist Visa) จนมาถึง Phuket Sandbox รวมทั้งเป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งสะท้อนผ่านเครื่องชี้การค้นหาโรงแรมและที่พักในไทยผ่านเว็บไซต์ต่างๆ จากข้อมูลของกูเกิ้ล Destination Insight (Travel Insights with Google) ที่พบว่า ตั้งแต่เดือนก.ย. 64 จนถึงต้นเดือนต.ค. 64 มีภาพที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยประเทศที่มีการค้นหาโรงแรมและที่พักในไทยสูง ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐฯ อินเดีย สหราชอาณาจักรและเยอรมัน เป็นต้น
ขณะที่โรงแรมและที่พักในพื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการค้นหาสูงสุด เช่น กรุงเทพฯ ป่าตอง (ภูเก็ต) พัทยา (ชลบุรี) เกาะสมุย (สุราษฎร์ธานี) และกะรน (ภูเก็ต) เป็นต้น
สำหรับจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวก็คงจะเป็นจังหวัดท่องเที่ยวในไทยที่มีความเสี่ยงโควิดต่ำ สะท้อนจากจำนวนผู้ป่วยที่ต่ำและอัตราการได้รับวัคซีนเข็มสองที่สูง ตลอดจนเป็นจังหวัดหรือพื้นที่ท่องเที่ยวที่สอดคล้องไปกับแผนของทางการ ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และพื้นที่ที่อยู่ในแผนเปิดเพิ่มเติม เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) จังหวัดเพชรบุรี (ชะอำ) และจังหวัดชลบุรี (เมืองพัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ) ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องคงต้องทำการตลาดเชิงรุกเพื่อสร้างดึงดูดความสนใจและร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวตลอดการเดินทาง
แม้ทางการไทยจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีโจทย์สำคัญในการที่จะต้องควบคุมการระบาดของโควิดและลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ เพื่อทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ปลอดภัยจากโควิด รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนโควิด ให้ครอบคลุมประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ให้ทั่วถึง โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนครบโดสให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่หรือเข้าหา 70% ในพื้นที่ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อสร้างความมั่นใจและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่