1,682 คู-คลองกทม.พร้อมรับน้ำเหนือ-ป้องน้ำท่วมกรุง

17 ต.ค. 2564 | 12:51 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2564 | 14:14 น.

กทม. ยัน 1,682 คู-คลอง พร้อม ช่วยระบายน้ำป้องกรุง หลังขุดลอก-ขยาย เปิดทางน้ำไหล ประสานกองทัพเรือ ขอเรือ12ลำผลักดันน้ำเหนือลงอ่าวไทย 1ล้านลบ./ม./วัน กระสอบทรายกำแพงชั่วคราวช่วยลดผลกระทบหลังบางบัวทอง นนทบุรีเริ่มจมน้ำ

 

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า ได้เฝ้าระวังและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รอยต่อจังหวัดปริมณฑล/พื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำของกทม.  หลังสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณสูง จากน้ำเหนือ น้ำฝนและน้ำทะเลหนุน ขณะอำเภอบางบัวทองจังหวัดนนทบุรีขณะนี้น้ำเริ่มทะลักเข้าท่วมชุมชน บ้านจัดสรรอาจกระทบพื้นที่ใกล้เคียงได้ 

 สำหรับความพร้อม ระบบคูคลองในกทม. 1,682 แห่ง ความยาว 2,604 กิโลเมตร แยกเป็น คลอง 1,161แห่ง คูลำกระโดง  521 แห่ง ได้รับการขุดลอกขยาย แนวตลิ่งเพื่อให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก ส่วนการปิด-เปิดประตูระบายน้ำ มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด24ชั่วโมง

ส่วน การรับมือในแม่น้ำเจ้าพระยา  ได้ ใช้เรือของกองทัพเรือ  จำนวน12ลำช่วยผลักดันน้ำ เหนือให้ระบายลงอ่าวไทยเร็วขึ้น  ล่าสุดกทม.ประสานกองทัพเรือขอสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ เรียบร้อยแล้ว เพื่อนำไปติดตั้งในคลองลัดโพธิ์   แหล่งข่าวกทม.กล่าวต่อว่า เรือผลักดันน้ำเรือ 1 ลำ จะมีประสิทธิภาพระบายน้ำ 100,000 ลบ.ม./วัน 12ลำ มีประสิทธิภาพระบายน้ำได้ 1,200,000 ลบ.ม./วัน หากฝนตกหนักทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นทางกองทัพเรือจะสนับสนุนเรือผลักดันน้ำติดตั้งเพิ่มเติม 

นอกจากนี้ ยังประสานงานร่วมกันระหว่าง กรมอุทกศาสตร์ และกรมชลประทาน ในการติดตามสถานการณ์น้ำขึ้น น้ำลง และการเดินเครื่องเรือผลักดันน้ำให้สัมพันธ์กับการเปิดปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จนกว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะคลี่คลาย

อีกทั้ง การเรียกกระสอบทรายทำเขื่อนป้องกันน้ำท่วมชั่วคราว ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณคลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ที่ไม่มีแนวป้องกันถาวร และบริเวณที่แนวป้องกันมีระดับต่ำ จำนวนทั้งสิ้น 76 จุด ครอบคลุม 17 เขต ความยาว 2,918 เมตร ความสูงประมาณมากกว่า 2.30-2.40 เมตร  ปัจจุบัน แล้วเสร็จ ใช้กระสอบไปทั้งสิ้น 92,400 ใบ กระสอบบรรจุแล้วคงเหลือ 11,000 ใบ อยู่ใต้สะพานรัชวิภาฯ 2,000 ใบ ศูนย์ฯบึงหนองบอน 1,000 ใบ ใต้สะพานพุทธมณฑลสาย 1  ใต้สะพานทางด่วนสาทร 3,000 ใบ ใต้สะพานแก้มลิงบางแค 5,000 ใบและ ความพร้อมกระสอบเปล่า 1,040,000 ใบ (อยู่ระหว่างจัดซื้อ 300,000 ใบ) นอกจากนี้ สำนักการระบายน้ำ กทม.ได้จัดเตรียมบิ๊ก แบค (Big Bag) 200 ใบ ตะกร้าใส่ทรายสำหรับเรียงกระสอบ 5,150 ใบ และพนังกั้นน้ำฉุกเฉิน 9 เส้น (1 เส้น ยาว 15 ม.) พร้อมดำเนินการตรวจสอบความพร้อมและความมั่นคงแข็งแรงของแนวคันกั้นน้ำตลอด 24 ชั่วโมง

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม. เปิดเผยว่า  ปัจจุบันได้เร่งระบายน้ำในแนวคลองหกวาสายล่าง โดยเปิดประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ ประตูระบายน้ำคลองสามวา และประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ (ตอนหนองใหญ่) เพื่อช่วยระบายน้ำจาก จ.ปทุมธานี ผ่านเข้ามายังพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนทางด้านตะวันออกรับน้ำด้านนอกคันผ่านทางคลองแสนแสบโดยใช้ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) และประตูระบายน้ำแสนแสบ (บางชัน)

คลองประเวศบุรีรมย์ใช้ประตูระบายน้ำคลองประเวศ (ลาดกระบัง) และประตูระบายน้ำประเวศ (กระทุ่มเสือปลา)เพื่อเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน จากนั้นจึงใช้อาคารบังคับน้ำที่มี ได้แก่ ประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำในการทำหน้าที่เร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้มีการเดินเครื่องสูบน้ำตลอดเวลา และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ รวมไปถึงการควบคุมระดับการ เปิด-ปิด ประตูระบายน้ำให้มีความสัมพันธ์กับการเดินเครื่องสูบน้ำและปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่