ข่าวโควิดวันนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม 2564 ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,810 ราย แยกรายละเอียด ดังนี้
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 มีจำนวน 1,831,389 ราย ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ 102,317 ราย ผู้ป่วยรักษาหายสะสม(ตั้งแต่ปี 63) 1,710,447 ราย เพิ่มขึ้น 10,513 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 66 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 18,531 ราย
10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด
1.กรุงเทพมหานคร 908 ราย สะสม(1 เม.ย.-22 ต.ค.64) 391,850 ราย
2.สงขลา 676 ราย สะสม(1 เม.ย.-22 ต.ค.64) 41,647 ราย
3.นครศรีธรรมราช 662 ราย สะสม(1 เม.ย.-22 ต.ค.64) 24,801 ราย
4.ยะลา 432 ราย สะสม(1 เม.ย.-22 ต.ค.64) 37,212 ราย
5.ปัตตานี 422 ราย สะสม(1 เม.ย.-22 ต.ค.64) 31,967 ราย
6.เชียงใหม่ 412 ราย สะสม(1 เม.ย.-22 ต.ค.64) 12,993 ราย
7.ประจวบคีรีขันธ์ 341 ราย สะสม(1 เม.ย.-22 ต.ค.64) 13,345 ราย
8.ตาก 309 ราย สะสม(1 เม.ย.-22 ต.ค.64) 19,749 ราย
9.สมุทรปราการ 307 ราย สะสม(1 เม.ย.-22 ต.ค.64) 119,955 ราย
10.นราธิวาส 306 ราย สะสม(1 เม.ย.-22 ต.ค.64) 33,596 ราย
ที่มา : ศูนย์ข้อมูล COVID-19
แจงรายะเอียดพ.รก.ฉุกเฉินฯฉบับที่ 36
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค.แถลงสถานการณ์ประจำวัน(22 ต.ค.64)ช่วงหนึ่งว่า สืบเนื่องจากการประชุมวางแผนกำหนดมาตรการเปิดประเทศเมื่อวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา และมีการหารืออีกหลายครั้งจากหน่วยงานที่สำคัญที่เกี่ยวข้อง มีการเสนอข้อสรุปให้ท่านนายกรัฐมนตรีลงนาม และมีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯฉบับที่ 36 วันนี้จะนำเรียนในรายละเอียด โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะรายชื่อประเทศที่ผ่านมาพิจารณาในที่ประชุมรวมทั้งมาตรการการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร
ข้อกำหนดตามมาตรา 9 ในพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 36 สืบเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสคิดวิด-19 ของประเทศไทย มีสถานการณ์คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น รัฐบาลเห็นว่า มีความจำเป็นฟื้นฟูประเทศ เพื่อประโยชน์ด้านการใช้ชีวิตความเป็นอยู่และด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชน เบื้องต้นจึงให้มีการเปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวเพื่อเป็นปัจจัยเอื้อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาจากต่างประเทศมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบแศรษฐกิจการจ้างงานในภาพรวม โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว และภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้จะต้องยึดหลักความปลอดภัยของประชาชน สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งประชาชนในประเทศ อันจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้สามารถดำเนินการได้ควบคู่กับมาตรการด้านสาสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้เริ่มปฏิบัติในหลายๆ ประเทศ ที่มีสถานการใกล้เคียงกัน
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อไปถึงมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือเปิดประเทศ ตามคำสั่ง ศบค. ที่17/2564 เรื่องแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรา 9 ฉบับที่ 17 ว่า การเปิดประเทศจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มนักท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศที่อนุญาตให้เดินทางเข้าได้โดยไม่ต้องกักตัว
2.การเข้ามาในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์
3.การเข้ามาในสถานที่กักกันตัวต่างๆ
กลุ่มแรก คือ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศแบบไม่ต้องกักตัว มีเงื่อนไขการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ประกอบด้วย
เป็นผู้ที่เดินทางมาทางอากาศเท่านั้น ต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม อย่างน้อย 14 วัน
มีผลตรวจ RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง
ทำประกันสุขภาพ อย่างน้อย 50,000 USD
มีใบจองที่พัก
และเมื่อเดินทางมาถึงท่าอากาศยานต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่กำหนด และตรวจหาเชื้อ RT-PCR ในวันที่เดินทางมา หรือถัดจากนั้นไม่เกิน 1 วัน
ทั้งนี้หากผลตรวจเป็นลบ (ไม่พบเชื้อ) สามารถเดินทางไปต่อได้ โดยไม่ต้องกักตัว แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขประเทศเรา อย่าง DMHTT, Universal Prevention และ Covid Free Setting
ส่วนชาวไทยและชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยที่เดินทางกลับประเทศ ไม่จำเป็นต้องมีประกันสุขภาพ และไม่จำเป็นต้องอยู่ประเทศนั้นครบ 21 วัน
กลุ่มที่สอง โปรแกรมแซนด์บ็อกซ์ ที่มีสมุย พังงา และกระบี่ เป็นต้น จะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับกลุ่มแรก แต่ที่เพิ่มเติม คือ ต้องจองที่พักมาตรฐาน SHA+ ซึ่งต้องเป็นโรงแรมที่อยู่บริเวณแซนด์บ็อกซ์เท่านั้น เป็นเวลา 7 วัน และจะมีการตรวจโควิดในวันที่ 1 หากผลเป็นลบ (ไม่พบเชื้อ) สามารถเดินทางในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ต่อไปได้ ก่อนจะต้องตรวจคัดกรองซ้ำอีกครั้งในวันที่ 6 หรือ 7 ก่อนเดินทางออกจากแซนด์บ็อกซ์
และกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ได้รับวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ครบ ได้รับวัคซีนเข็มสองแล้วแต่ยังไม่ครบ 14 วัน หรือเดินทางมาจากประเทศอื่นนอกหนือจาก 46 ประเทศที่ได้รับอนุญาต ซึ่งกลุ่มนี้สามารถเดินทางเข้าไทยได้ แต่ต้องกักกันตัวในสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ (SQ) สถานกักกันโรคทางเลือก ที่จัดการโดยเอกชน (ASQ) สถานกักโรคขององค์กร (OQ) หรือสถานที่รองรับผู้ที่ต้องการเข้ารับการรักษาพยาบาล (Hospital Quarantine) ซึ่งจะต้องกักตัว 7-10 วัน ตามเกณฑ์ของแต่ละกลุ่ม และจะต้องตรวจหาเชื้อในวันที่ 1 พร้อมตรวจซ้ำอีกครั้งในวันที่ 6 หรือ 7 (กรณีกักตัว 7 วัน) หรือในวันที่ 8 หรือ 9 (กรณีกักตัว 10 วัน)
ทั้งนี้ ศบค.จะติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด หากมีการปรับเปลี่ยนจะรีบแจ้งให้ทราบต่อไป