น้ำท่วม-น้ำล้นตลิ่ง ส่งผลกระทบ 23 จังหวัด

23 ต.ค. 2564 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2564 | 13:13 น.

ปภ. รายงานสถานการณ์อุทกภัย -น้ำป่าไหลหลาก-น้ำล้นตลิ่ง ส่งผลกระทบ 23 จังหวัด เร่งประสานจังหวัดให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย

23 ตุลาคม 2564 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ตอนบน

ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ 21-22 ตุลาคม 2564

ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา ลำปาง อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ เลย ขอนแก่น รวม 11 อำเภอ 17 ตำบล 80 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 674 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แยกเป็น

ภาคเหนือ 5 จังหวัด 

1.เชียงราย พื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงแสน และอำเภอป่าแดด รวม 5 ตำบล 13 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 60 ครัวเรือน 

2.พะเยา พื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน และอำเภอเมืองพะเยา รวม 5 ตำบล 40 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 340 ครัวเรือน 

3.ลำปาง พื้นที่อำเภองาว รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15 ครัวเรือน 

4.อุตรดิตถ์ พื้นที่อำเภอทองแสนขัน รวม 1 ตำบล 7 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 149 ครัวเรือน 

5.เพชรบูรณ์ พื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองไผ่ และอำเภอหล่มสัก รวม 3 ตำบล 11 หมู่บ้าน 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด 

1.เลย พื้นที่อำเภอเมืองเลย รวม 1 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30 ครัวเรือน

2.ขอนแก่น พื้นที่อำเภอภูผาม่าน รวม 1 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 80 ครัวเรือน ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำลดลงในทุกพื้นที่

ขณะที่สถานการณ์อุทกภัยจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 17-19 ตุลาคม 2564 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่

ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สระแก้ว ชลบุรี สมุทรปราการ นครปฐม และกาญจนบุรี รวม 46 อำเภอ 166 ตำบล 742 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,499 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครปฐม และสระแก้ว รวม 30 อำเภอ 125 ตำบล 614 หมู่บ้าน 11,410 ครัวเรือน ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำยังทรงตัว

ส่วนอิทธิพลพายุ คมปาซุ เมื่อวันที่ 15-17 ตุลาคม 2564 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ลพบุรี ปราจีนบุรี และนครนายก รวม 12 อำเภอ 33 ตำบล 112 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,326 ครัวเรือน

สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 2 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรีและปราจีนบุรี รวม 5 อำเภอ 9 ตำบล 28 หมู่บ้าน 407 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลงในทุกพื้นที่

สำหรับผลกระทบจากพายุ เตี้ยนหมู่ เมื่อวันที่ 23 กันยายน ถึง 7 ตุลาคม 2564 ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 33 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ

อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม รวม 226 อำเภอ 1,206 ตำบล 8,265 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 339,346 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 17 ราย (ลพบุรี 11 ราย เพชรบูรณ์ 2 ราย ชัยนาท 1 ราย นครสวรรค์ 3 ราย)

ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 27 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด รวม 23 อำเภอ 214 ตำบล 1,048 หมู่บ้าน 67,290 ครัวเรือน ดังนี้

1.มหาสารคาม น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคามรวม 12 ตำบล 41 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,627 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว 

2.สุพรรณบุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางปลาม้า และอำเภอสองพี่น้อง รวม 20 ตำบล 58 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,011 ครัวเรือน 

3.สิงห์บุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี รวม 10 ตบล 46 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,149 ครัวเรือน 

4.อ่างทอง ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอไชโย อำเภอป่าโมก และอำเภอวิเศษชัยชาญ รวม 36 ตำบล 106 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,434 ครัวเรือน 

5.พระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมขังในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน อำเภอมหาราช อำเภอบางปะหัน และอำเภอบางซ้าย รวม 115 ตำบล 681 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 46,749 ครัวเรือน 

6.ปทุมธานี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอสามโคก รวม 21 ตำบล 56 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,301 ครัวเรือน 

ภาพรวมสถานการณ์คลี่คลายในหลายพื้นที่แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ 

ด้านสถานการณ์อุทกภัยจากน้ำล้นตลิ่งซึ่งเกิดจากฝนตกต่อเนื่องและการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำ ทำให้เกิดน้ำในลำน้ำล้นตลิ่ง ตั้งแต่วันที่ 18-19 ตุลาคม 2564 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อุทัยธานี และฉะเชิงเทรา รวม 6 อำเภอ 19 ตำบล 100 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 603 ครัวเรือน

ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 2 จังหวัด (กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา) ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 2 จังหวัด รวม 4 อำเภอ 15 ตำบล 73 หมู่บ้าน 585 ครัวเรือน ได้แก่ ร้อยเอ็ด พื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทุ่งเขาหลวง และอำเภอเชียงขวัญ รวม 5 ตำบล 38 หมู่บ้าน อุทัยธานี พื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลานสักและอำเภอหนองฉาง รวม 10 ตำบล 35 หมู่บ้าน ภาพรวมสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำลดลง

สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมสรรพกำลังในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ และดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง 

ทั้งนี้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784 โดยเพิ่มเพื่อน LINE ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง