ทำความรู้จัก โควิดอัลฟาพลัส Alpha Plus ก่อนเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้

28 ต.ค. 2564 | 02:21 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2564 | 09:38 น.

"ฐานเศรษฐกิจ" ชวนมาทำความรู้จัก โควิดอัลฟาพลัส Alpha Plus ก่อนเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ ที่พบว่าเป็นโควิดกลายพันธุ์ สามารถหลบภูมิได้ดี เเละอาการรุนแรงกว่าเดิม

เกาะติดประเด็น “โควิดกลายพันธุ์” ก่อน "เปิดประเทศ" 1 พ.ย.นี้ ล่าสุดถือว่าสร้างความกังวลใจให้คนไทยไม่น้อย แม้ว่าจากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 16-22 ต.ค. 2564 โดยภาพรวมโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย เป็นสายพันธุ์เดลตา 98.6% เบตา 0.8 % และอัลฟา 0.6% 

ส่วนใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่เป็นเดลตาเช่นกัน 96.9 % เบตา 2.3 % และอัลฟา 0.8% โดยสายพันธุ์เบตาและอัลหามีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ  

ประเทศไทยพบ "โควิดอัลฟาพลัส" (Alpha Plus) โดยผู้ติดเชื้อในประเทศไทย 18 ราย  เป็นผู้ต้องขังเชียงใหม่ 2 ราย มีการเก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2564

อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค  และในจังหวัดจันทบุรีและตราด เก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 9 ต.ค.2564 ตรวจ 1,119 ตัวอย่าง พบ 16 รายในล้งผลไม้ เป็นแรงงานกัมพูชา 12 ราย และไทย 4 ราย 

ทั้งหมดหายแล้ว จะมีการดำเนินการตรวจเชิงรุกในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและสุ่มตรวจในพื้นที่อื่นๆด้วยว่ามีอัลฟาพลัสหรือไม่

โควิดอัลฟาพลัส (Alpha Plus) คืออะไร

เป็นการกลายพันธุในตำแหน่ง E484K บนสไปค์ จากสายพันธุ์หลักคือ สายพันธุ์อัลฟา B.1.1.7  เลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด แพร่กระจายง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น 40-70% และพบได้ในสายพันธ์เบตาและแกมมาขณะนี้อยู่ในระบบเฝ้าระวัง เจอครั้งแรกในประเทศอังกฤษเมื่อเดือนธันวาคม 2563   

ความรุนแรงของโควิดอัลฟาพลัส (Alpha Plus)

จากการตรวจสอบในระบบจีเสด(GISAID) พบว่า อัลฟาพลัส E484K ที่เจอในประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับที่เจอในเอเชียนั้น มีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อที่ระบาดอยู่ในประเทศกัมพูชา

และเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในประเทศกัมพูชาตอนนี้  ซึ่งการกลายพันธุ์ในตำแหน่งนี้ที่มีการหลบภูมิคุ้มกัน แบบที่เจอในเบตาและแกมมา ทำให้อัลฟาพลัส อยู่ระหว่างอัลฟา และเบตา กับแกมมา

ถ้ามีมากในไทยอาจหลบภูมิคุ้มกันได้ แต่อัลฟาในไทยเริ่มถูกเบียดหมดไปโดยเดลตา อำนาจการแพร่กระจายจึงอาจไม่สูงเช่นเดียวกับเบตาในภาคใต้ หลบภูมิฯแต่แพร่กระจายไม่สูง

ทั้งนี้ จะมีการนำตัวอย่างเชื้ออัลฟาพลัสมาเพาะเชื้อเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการดูว่าอัลฟาพลัสตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันวัคซีนเป็นอย่างไร

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า อัลฟาพลัส ไม่ได้มีความรุนแรงไปกว่าอัลฟาหลัก แต่ความรุนแรงอาจจะเหนือกว่าอัลฟาเล็กน้อย อาจจะพอๆ กับโควิดเดลตาในปัจจุบันก็เป็นไปได้

อาการโควิดอัลฟาพลัส มีอาการเช่นเดียวกับกับโควิดอัลฟา B.1.1.7

  1. ไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  2. อาการเจ็บคอ
  3. อาการหายใจเหนื่อยหอบ
  4. ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยร่างกาย
  5. สูญเสียการรับรส หรือรับกลิ่น

วัคซีนโควิดที่ป้องกันได้ดี

  1. วัคซีนโควิดไฟเซอร์ ป้องกันโรค 91% ป้องกันติดเชื้อ 86%
  2. วัคซีนโควิดโมเดอร์นา ป้องกันโรค 94% ป้องกันติดเชื้อ 89%
  3. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันโรค 74% ป้องกันติดเชื้อ 52%
  4. วัคซีนโควิด Johnson & Johnson: ป้องกันโรค 72% ป้องกันติดเชื้อ 72%
  5. วัคซีนโควิด Spunik-V: ป้องกันโรค 92% ป้องกันติดเชื้อ 81%
  6. วัคซีนโควิด Novavax: ป้องกันโรค 89% ป้องกันติดเชื้อ 79%
  7. วัคซีนโควิดซิโนฟาร์ม ป้องกันโรค 73% ป้องกันติดเชื้อ 65%

ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การเเพทย์