ผวาพิษโควิด เด็ก 1.9 ล้านคน เสี่ยงหลุดนอกระบบการศึกษา 

29 ต.ค. 2564 | 12:59 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2564 | 20:30 น.

ศธ.- กสศ. ร่วมภาคเอกชน ภาคประชาสังคม 16 องค์กรคิกออฟ เครือข่าย All for Education สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา  เร่งรับมือเด็กเสี่ยงหลุดนอกระบบจากวิกฤตโควิด 1.9 ล้านคน

เมื่อวันที่ 28  ตุลาคม 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และองค์กรภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน  แถลงข่าวความร่วมมือ ALL FOR EDUCATION  ร่วมสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา รวมพลังฟื้นฟูประเทศไทย มีเครือข่ายเข้าร่วมก่อตั้งมากกว่า 16 องค์กร

ผวาพิษโควิด เด็ก 1.9 ล้านคน เสี่ยงหลุดนอกระบบการศึกษา 

โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นางสาวตรีนุช  กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังฟื้นตัวเพื่อก้าวไปข้างหน้า  การศึกษาเป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะส่งผลกระทบโดยตรงกับเด็กและเยาวชน อนาคตของชาติหลายล้านคน รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการในการบรรเทา ป้องกัน หรือฟื้นฟูที่เข้มข้นเพียงพอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะสูงขึ้นหรือมีเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ เงินเยียวยาผู้ปกครองและนักเรียน  ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน จำนวน 10.8 ล้านคน รวมเป็นเงินประมาณ 21,600 ล้านบาท  เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในสถานการณ์โควิด-19  

ผวาพิษโควิด เด็ก 1.9 ล้านคน เสี่ยงหลุดนอกระบบการศึกษา 

รมว.ศธ. กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยั่งยืน ต้องทำให้เกิดการปฏิรูประบบได้อย่างแท้จริง  ซึ่งหนึ่งในกลไกสำคัญ  คือ การพัฒนางานร่วมกับ กสศ.   ริเริ่มระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนทุกคน ได้เรียนต่ออย่างเต็มศักยภาพ  ไม่หลุดออกนอกระบบ   โดยมีตัวอย่างมาตรการสำคัญ คือ โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขของโรงเรียนสังกัด สพฐ. เพื่อให้เกิดผลลัพธ์มุ่งตรงกลุ่มเป้าหมายที่ยากจนที่สุด 15 % ของประเทศ ในภาคเรียนที่ 1/2564 ที่ผ่านมา   สามารถช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาสังกัดสพฐ. จำนวน 1,208,367 คนไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา

ผวาพิษโควิด เด็ก 1.9 ล้านคน เสี่ยงหลุดนอกระบบการศึกษา 

 และยังมีมาตรการพิเศษ เพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคช่วงชั้นรอยต่อ (อนุบาล 3, ป.6, ม.3)  ในสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้ศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น  จำนวน 294,454 คน     ศธ.และกสศ. ยังพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อดูแลและส่งต่อนักเรียน ครอบคลุมทุกมิติ เชื่อมโยงการทำงานอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงระบบดูแล เฝ้าระวัง และส่งต่อเด็กวัยเรียนในครัวเรือนยากจน และด้อยโอกาสให้คงอยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งจะดำเนินการครบวงจรครอบคลุมทั้ง 225 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศในปีการศึกษา 2565

“ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นเป็นปัญหาขนาดใหญ่ และการแก้ปัญหาที่อาศัยกลไกภาครัฐแต่เพียงลำพัง ย่อมไม่สามารถจัดการให้หมดไปได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน  ด้วยแนวคิด “ปวงชนเพื่อการศึกษา” หรือ “All for Education” ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมแบ่งปันความเชี่ยวชาญ  ประสบการณ์ และทรัพยากรที่มีร่วมกัน  เพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ให้แก่เด็กยากจนด้อยโอกาส เพราะในวันนี้เราไม่สามารถ ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลังได้อีกแล้ว และนี่คือเวลาของการปฏิรูปเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” นางสาวตรีนุช กล่าว

ผวาพิษโควิด เด็ก 1.9 ล้านคน เสี่ยงหลุดนอกระบบการศึกษา 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า    วันนี้มิใช่งานที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความยินดีต่อเม็ดเงินบริจาคที่รวบรวมได้ แต่เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ และความเป็นผู้นำของท่านผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะในวิกฤต COVID-19    

วันนี้ รัฐมนตรีทั้ง 3 ท่านได้แสดงให้สังคมไทยได้เห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้น เป็นบาทแรก และได้กรุณาเสียสละเงินเดือนของท่านเป็นเวลา 3 เดือนเพื่อช่วยเหลือสนับสนุน    และยังถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเกิดขึ้นของเครือข่าย ALL FOR EDUCATION  ร่วมสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาจากความร่วมมือของทั้ง 16 องค์กร ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม  

ดร.ประสาร กล่าวว่า กสศ.ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา Information System for Equitable Education หรือ iSEE   เชื่อมโยงระบบสารสนเทศของเด็กเยาวชนรายบุคคลมากกว่า 10 ล้านคนจากสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. กระทรวงมหาดไทย กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และ กสศ. เพื่อแสดงข้อมูลสารสนเทศให้สังคมมองเห็นสถานการณ์ความเสมอภาคทางการศึกษาในรายพื้นที่ ครอบคลุมสถานศึกษามากกว่า 30,000 แห่ง ใน 3 สังกัดทั่วประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการชี้เป้าและการรายงานผลการสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการช่วยเหลือด้วยทรัพยากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน เพื่อยกระดับการทำงานจากการเยียวยา สู่การจัดการเชิงระบบที่ยั่งยืนเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาจากพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน

“ คำกล่าวหนึ่งจากภูมิปัญญาของชาวแอฟริกา ว่า It takes a village to raise a child” “การสร้างเด็กคนหนึ่งต้องอาศัย คนทั้งหมู่บ้าน” สะท้อนให้เห็นความจริงที่เป็นสากลว่าการบ่มเพาะให้เด็กคนหนึ่ง เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมที่จะเข้ามาช่วย ในฐานะที่เขาเป็นอนาคตของประเทศ    โดยกสศ.เชื่อมั่นว่า ด้วยข้อมูลที่ดี และความร่วมมือที่ดี  จะทำให้การช่วยเหลือระยะสั้น ขยับตัวเป็นเรื่องการพัฒนาระบบ มีความยั่งยืนมากขึ้น จนสามารถสร้างสิ่งที่เรียนกว่า หลักประกันโอกาสทางการศึกษา  ที่แม้แต่เด็กนอกระบบการศึกษา ก็สามารถเข้าถึงระบบการเรียนรู้ได้  ผมเชื่อว่าแนวทางนี้เป็นหนทางที่ดีที่สุด ที่จะนำไปสู่การแก้โจทย์เชิงโครงสร้าง  แก้ปัญหาความยากจนข้ามชั่วคน”    

ผวาพิษโควิด เด็ก 1.9 ล้านคน เสี่ยงหลุดนอกระบบการศึกษา 

ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุดภาคเรียนที่ 1/2564 ประเทศไทยมีเด็กยากจนและยากจนพิเศษรวมประมาณ 1.9 ล้านคน  โดยในตัวเลขนี้พบว่ามีเด็กช่วงชั้นรอยต่อ จำนวน  43,060 คน ที่ยังไม่พบข้อมูลว่าได้กลับเข้ามาเรียนต่อในภาคเรียนที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่อยู่ในรอยต่อระดับ ม.3 ขึ้น ม.4/ปวช. ซึ่งจากการรายงานของสถานศึกษา ในช่วงเปิดเทอม 1/2564 ที่ผ่านมานี้ ชี้ถึงสาเหตุที่เด็กกลุ่มนี้ไม่เรียนต่อ เนื่องจากต้องช่วยผู้ปกครองทำงาน หารายได้เป็นเสาหลัก เลี้ยงครอบครัว โดย กสศ. ได้ประสานงานร่วมกับ สพฐ. ในการส่งต่อข้อมูลเด็กช่วงชั้นรอยต่อกลุ่มนี้ เพื่อวิเคราะห์เชื่อมโยงกับรายชื่อผู้ที่รับเงินเยียวยาผู้ปกครองและนักเรียน ทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีพ จำนวน 2,000 บาท และทำงานร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศในการติดตามเพื่อให้กลับมาเรียนต่อในภาคเรียนที่ 2/2564 นี้

ด้านคุณหญิงกัลยา  โสภณพานิช  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า แม้คณะรัฐมนตรีจะมีนโยบายเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะเยาวชนและครอบครัวไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่เด็กที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือเด็กที่สูญเสียผู้ปกครองไปเพราะโควิด-19 เด็กกลุ่มนี้จึงต้องถูกให้ความสำคัญและได้รับการสนับสนุนจากสังคม  แม้เงินเดือนสามเดือนของรัฐมนตรีจะเป็นเงินไม่มากนัก แต่แสดงถึงความตั้งใจของเราทั้งสาม   โดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ   เชิญชวนร่วมสละเงินเดือนเพื่อร่วมกับกสศ.ในการช่วยเหลือเยาวชนที่มีต้องการจริงๆ  ทั้งนี้ความร่วมมือร่วมใจของชุมชนและสังคมจะเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งยวดในการให้ความช่วยเหลือเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาของเด็กต่อไป
 
ด้าน ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การบริจาคให้แก่ กสศ. เป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นตั้งใจของทั้ง 3 รัฐมนตรีในการทุ่มเทเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมาย เด็กเปราะบางที่มีความบกพร่องทางร่างกาย แต่มีศักยภาพและแรงใจเต็มเปี่ยม  เพราะเชื่อมั่นว่าเราสามารถสนับสนุนให้เด็ก ๆ กลุ่มนี้  พัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ  เพราะพวกเขาทุกคน ถือเป็นกำลังสำคัญต่อประเทศชาติเช่นกัน
 
ทั้งนี้ ภายในงานรัฐมนตรีทั้งสามท่านได้บริจาคเงินเดือน สมทบผ่านแคมเปญ “ALL FOR EDUCATION ร่วมสร้างหลักประกันทางการศึกษา”  เพื่อช่วยเหลือ 3 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย 

  1. เด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากกว่า 1,612 คน ที่ศึกษาและอาศัยอยู่ใน 14 โรงเรียนพักนอนในพื้นที่ยากลำบากที่สุดในประเทศไทย
  2. เด็กกำพร้าที่สูญเสียผู้ปกครองจาก COVID-19 จำนวน 399 คน ให้ได้ศึกษาต่อไปในระบบการศึกษา
  3. เด็กพิการจำนวน 103 คน ในศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

 นอกจากนี้ยังมีการประกาศเจตนารมย์ของเครือข่าย“ALL FOR EDUCATION ร่วมสร้างหลักประกันทางการศึกษา”  ตั้งต้นจำนวน 16 องค์กร ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม  ประกอบด้วย มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  มูลนิธิพุทธรักษา และมูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์  มูลนิธิยุวพัฒน์  มูลนิธิก้าวคนละก้าว มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิไทยพีบีเอส มูลนิธิเอสซีจี  มูลนิธิเสริมกล้า  เคพีเอ็มจี ประเทศไทย บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด  บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด  บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  กลุ่มธุรกิจ TCP)   และบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด