8 พ.ย.2564 - กลายเป็นข่าวฮือฮา และเป็นที่วิตกกังวล สำหรับผู้เลี้ยงสุนัข - แมว หลังช่วงเช้าวันนี้ นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึง "การติดเชื้อโควิด-19 ของสุนัขและแมวในไทย"
โดยระบุว่า งานวิจัยเมื่อ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ของทีมคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตรวจพบสุนัข 3 ตัวจากการตรวจ 35 ตัว และแมว 1 ตัวจากการตรวจ 9 ตัว ติดเชื้อโควิด-19 โดยทั้งหมดที่ตรวจนั้นเป็นสัตว์เลี้ยงในครัวเรือนที่มีเจ้าของติดเชื้อโควิด-19 โดยสุนัข 1 ตัวมีอาการเล็กน้อย ส่วนตัวอื่นๆ ที่ติดเชื้อนั้นไม่มีอาการ เป็นคำถาม ว่า การติดเชื้อ COVID-19 ของสุนัขและแมวในไทย สามารแพร่สู่คนได้หรือไม่?
ล่าสุด นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึง การเผยแพร่ข่าวทางเฟซบุ๊ก กรณีพบการติดเชื้อ COVID-19 ของสุนัขและแมวในไทย ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เกิดความกังวลและสร้างความตระหนกต่อเจ้าของสัตว์เลี้ยงในไทยอย่างมากถึง สัตว์เลี้ยงที่ติดโควิด สามารถแพร่เชื้อกลับไปยังเจ้าของสัตว์ได้หรือไม่นั้น
ว่าปัจจุบันในขณะที่ทั่วโลกกำลังรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ก็มีรายงานการติดเชื้อในสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มมีรายงานการตรวจพบเชื้อครั้งแรกในสุนัขและแมวในฮ่องกงในปี 2563 และมีหลักฐานว่าแมวติดเชื้อในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนสามารถแพร่เชื้อไปยังแมวตัวอื่นได้
ต่อมาพบการติดเชื้อในตัวมิงค์ที่ประเทศเดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์ และพบเชื้อในแมวที่มีอาการทางระบบหายใจและทางเดินอาหารในประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นสุนัขและแมวที่ใกล้ชิดกับเจ้าของที่ติดเชื้อ COVID-19 มีรายงานการพบเชื้อในเสือโคร่ง แสดงอาการทางระบบหายใจ ในสวนสัตว์ที่สหรัฐอเมริกา โดยคาดว่าติดเชื้อมาจากพนักงานดูแลสัตว์ที่ติดเชื้อ และยังมีรายงานว่าสามารถแพร่สู่สัตว์อื่นๆ ได้ เช่น กวาง พังพอน เสือ สิงโต หรือแม้แต่สัตว์ตระกูลลิงกอริลลา
กรมปศุสัตว์ยัน "สัตว์ติดเชื้อโควิด" ไม่แพร่กลับสู่คน
สำหรับประเทศไทยพบมีรายงานครั้งแรกในเดือนเมษายน 2564 จากสุนัขที่นำมาผ่าตัดขาเนื่องจากเป็นมะเร็งที่โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยหลังผ่าตัดเพื่อนบ้านเจ้าของสุนัขได้แจ้งให้แพทย์ทราบว่าเจ้าของสุนัขติดเชื้อโควิด-19 จึงได้มีการเก็บตัวอย่างจากสุนัขและตรวจพบเชื้อดังกล่าว
จากข้อมูลการตรวจพบเชื้อ COVID-19 ในสัตว์กลุ่มที่ได้กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าสัตว์เหล่านี้ใกล้ชิดกับเจ้าของหรือได้รับการดูแลจากผู้ที่ติดเชื้อ เป็นการติดเชื้อจากคนสู่สัตว์ โดยปัจจุบันมีหลักฐานชัดเจนว่า มนุษย์สามารถแพร่เชื้อไปสู่สัตว์เลี้ยงได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการแพร่เชื้อกลับจากสัตว์เลี้ยงไปสู่คน
เปิดแนวทางดูแลสัตว์เลี้ยง ในยุคโควิด
เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการและข้อปฏิบัติในการดูแลสัตว์เลี้ยงของผู้ติดเชื้อ กรมปศุสัตว์จึงได้แจ้งข้อพึงปฏิบัติและมาตรการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงหากตรวจพบโรคโควิด-19 ในสัตว์เลี้ยงหรือสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงติดเชื้อ สำหรับสถานพยาบาลสัตว์ที่รับฝากหรือรักษาสัตว์เลี้ยงในกรณีที่เจ้าของสัตว์ป่วยด้วยโรคโควิด-19 รวมถึงข้อควรปฏิบัติไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ (คลิก)https://dcontrol.dld.go.th เมนูข่าวสารประชาสัมพันธ์ หัวข้อเตรียมความพร้อมกำหนดแนวทางการดูแลสัตว์เลี้ยงของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มหาวิทยาลัย ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) อย่างต่อเนื่อง
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มว่า ขอให้ผู้เลี้ยงสัตว์ทุกท่านอย่าตื่นตระหนกและไม่ละทิ้งสัตว์เลี้ยง ซึ่งการทิ้งสัตว์เลี้ยงเป็นการเข้าข่ายผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 โดยเน้นย้ำว่าในปัจจุบันสามารถระบุได้เพียงว่าสุนัขและแมวสามารถติดเชื้อโควิด-19 จากคนป่วยได้เท่านั้น ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลว่าสามารถแพร่เชื้อจากสัตว์เลี้ยงกลับสู่คนได้ ซึ่งได้มีการศึกษาร่วมกันระหว่างกรมปศุสัตว์และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการเก็บตัวอย่างในสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของนำมาเข้ารับบริการในโรงพยาบาลสัตว์จำนวน 120 ตัว ยังไม่พบการติดเชื้อซึ่งแสดงให้เห็นว่าเชื้อโควิด-19 ไม่มีการแพร่กระจายทั่วไปในสัตว์เลี้ยง
แนะหากเจ้าของป่วยโควิดควรกักตัว-แยกสัตว์เลี้ยง
แต่อย่างไร ก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันและลดความความเสี่ยงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระหว่างคนและสัตว์เลี้ยง จึงขอแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงพาสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้าน และหากท่านอยู่ในกลุ่มสงสัยว่าติดเชื้อหรือป่วยจากเชื้อ COVID-19 ควรแยกตัวออกจากผู้อื่น รวมถึงสัตว์เลี้ยงของท่าน ควรให้บุคคลอื่นที่มีสุขภาพดีเป็นผู้ดูแลสัตว์แทน หากสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงสัมผัสโรคหรือสัตว์ติดเชื้อ
เช่น มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยและมีอาการที่เข้าข่ายของโรค ควรกักสัตว์แยกไว้ไม่เข้าไปคลุกคลีอย่างน้อย 14 วัน ในกรณีจำเป็นต้องการนำไปฝากเลี้ยงหรือทำการตรวจรักษาให้โทรศัพท์ปรึกษาสัตวแพทย์และแจ้งให้ทราบถึงประวัติเสี่ยงของท่านและสัตว์ก่อน ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงไปยังสถานพยาบาลสัตว์โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า
ทั้งนี้ สามารถติดต่อปรึกษา หรือ ขอคำแนะนำเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ และ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกแห่ง หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร 063-225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application : DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง