9 พ.ย.2564 - จาก "สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง" ส่งผล พื้นที่ กทม. ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 5 เขต เกิดปัญหาน้ำท่วม เอ่อล้นเข้าท่วมชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ ได้แก่ เขตบางพลัด (สะพานซังฮี้ ) ,เขตสัมพันธวงค์ (ถ.ราชวงค์) , เขตยานนาวา (ถ.เจริญกรุง ถ.พระราม 3 สะพานพระราม 9) , เขตธนบุรี (ถ.เจริญนคร แยกบุคคโล) และ เขต คลองเตย อย่างหนักวานนี้ หลังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น ที่ระดับ 2.30 เมตร
ขณะสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงใน จ.สมุทรปราการ ทำให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมสูงเสมอฟุตบาธ ท่าน้ำบางนาต้องปิดชั่วคราวเช่นเดียวกัน ล่าสุดกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ คาดการณ์ สถานการณ์น้ำทะเลหนุน จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงช่วงวันที่ 13-14 พ.ย. นี้ ให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนในจุดเสี่ยง เตรียมรับมือ และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ช่วงเวลา 05.00 -20.30 น.
ส่วน ปภ. ประกาศ เตือน 17 จังหวัดเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง 9 พ.ย. (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และกรุงเทพมหานคร)
ล่าสุด รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ กล่าวถึง ปรากฎการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ว่าปีนี้ อิทธิพลมีความรุนแรงกว่าปี 2564 จึงอาจทำให้ช่วงเวลาน้ำท่วมยาวนาน โดยมีใจความระบุว่า ...
วันนี้น้ำทะเลหนุนสูง แม้ว่าปริมาณน้ำเหนือที่ปล่อยผ่านมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา (ผ่านสถานีบางไทร 2,500 cms) และแม่น้ำท่าจีน (ผ่านประตูน้ำโพธิ์พยา 60 cms) รวมทั้งการระบายน้ำจากทุ่งรับน้ำในภาคกลาง ส่งผลให้หลายพื้นที่ในภาคกลางตอนล่าง กทม. และปริมณฑลโดยเฉพาะสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม (บางเลน นครชัยศรี สามพราน) มีระดับน้ำล้นคันกั้นน้ำ ตามที่ผมได้ให้ข้อมูลไปแล้วเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา
อิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูงในปีนี้ รุนแรงกว่าในปี 2554 กล่าวคือ ปี 2554 อิทธิพลน้ำเหนือมีสูงกว่า (จึงทำให้ช่วงเวลาน้ำท่วมทอดเวลายาว) แต่ในปีนี้มาในช่วงน้ำเกิด ประมาณทุกๆ 2 สัปดาห์
เหตุการณ์แบบนี้ในระยะสั้น หลังจากวันที่ 10 พ.ย. จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามช่วงประมาณวันที่ 21-24 พ.ย. น้ำทะเลจะหนุนสูงอีกครั้งหนึ่ง (แต่ระดับอาจจะต่ำกว่าวันนี้ประมาณ 0.20-0.30 m) และจะหนุนสูงสุดในปีนี้ (สูงกว่าวันนี้ประมาณ 0.10-0.20 m) ช่วงวันที่ 5-9 ธ.ค. ดังนั้น ต้องเฝ้าระวังกันด้วยครับ
ในระยะยาว (อาจไม่ถึง 10 ปี) เหตุการณ์แบบนี้ จะเห็นชัด และรุนแรงมากขึ้นจาก Climate change (รวมทั้ง Land use change) โดย กทม. และปริมณฑลถูกประเมินโดยคณะทำงาน IPCC และผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเป็นหนึ่งในเมืองหลวงที่มีความเปราะบางสูงมาก เป็นไปตามรหัสสีแดง
ทั้งนี้ ดร.เสรี เคย ให้ข้อมูลไว้ว่า รหัสสีแดง หรือ สัญญาณสีแดง (Cpde red) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เน้นย้ำคำสำคัญ 3 คำ ก่อให้เกิดผลกระทบทั่วโลก(Widespread) รวดเร็ว (Rapid) และรุนแรงขึ้น (Intensify) เช่น ทุก 1 องศา ที่เพิ่มขึ้น จะมีความเสี่ยงน้ำแล้ง น้ำท่วมเพิ่มขึ้น 7-10% เพื่อให้หลายประเทศ และไทย เตรียมความพร้อมในการรับมือ และสามารถปรับตัวได้อย่างยั่งยืนในอนาคต