เช็คด่วน!พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน -น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม

10 พ.ย. 2564 | 09:14 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2564 | 16:21 น.

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ -กรมทรัพยากรธรณี เตือนพื้นที่ภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม รวมถึงเฝ้าระวังระดับน้ำในเขื่อน จะมีพื้นที่จังหวัดไหน อำเภออะไรบ้าง เช็คที่นี่

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ออกประกาศเรื่องการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศฉบับที่ 5 คาดการณ์ในช่วงวันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2564 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ 

 

ทั้งนี้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากผ่นคาดการณ์ (ONE MAP)ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ประกอบกับพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่องจึงขอเน้นย้ำให้เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 11 - 15 พฤศจิกายน 2564ดังนี้
 

1.เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากบริเวณที่ลาดเชิงเขา

  • บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

 

2.เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำ

  • บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ระนอง กระบี่ ภูเก็ต และตรัง

 

3.เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่ลุ่มต่ำ 

  • บริเวณแม่น้ำตาปี อำเภอพระแสง อำเภอเวียงสระ อำเภอเคียนซา และอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี 
  • บริเวณคลองท่าดี อำเภอลานสกา อำเภอพระพรหม อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และคลองชะอวด ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • ทะเลสาบสงขลา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา 
  • แม่น้ำปัตตานี อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา 
  • อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี 
  • แม่น้ำโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือ มีดังนี้


1.ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ


2.ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด(Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ ให้สอดคล้องกับการขึ้น - ลงของระดับน้ำทะเลรวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก


3.ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำและติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


4.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประซาชนได้ทันที


5.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

 

ส่วนทางด้านกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ได้แจ้งอาสาสมัครเครือข่ายกรมทรัพยากรธรณี ให้เฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในระยะ 2 - 3 วันนี้ (วันที่ 10 - 12 พฤศจิกายน 2564)ในพื้นที่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล


โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มบริเวณอำเภอ

  • บางสะพาน บางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 
  • อำเภอเมือง สวี ท่าชนะ จังหวัดชุมพร
  • อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี 
  • อำเภอนบพิตำ ลานสกา ขนอม ทุ่งสง ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • อำเภอยะหริ่ง สายบุรี จังหวัดปัตตานี 
  • อำเภอรามัน เบตง ธารโต จังหวัดยะลา
  • อำเภอเมือง ตากใบ แว้ง ยี่งอ จังหวัดนราธิวาส 

 

ทั้งนี้เนื่องจากมีฝนตกหนัก วัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 100 มิลลิเมตร และมีน้ำป่าไหลหลากในบางพื้นที่แล้ว ซึ่งอาจทำให้ชั้นดินเกิดการอุ้มน้ำไว้มาก อาจส่งผลให้เกิดดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากขึ้นได้ 

 

โดยขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยและวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดเหตุให้แจ้งเตือนสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากให้ประชาชนในหมู่บ้านได้รับทราบ และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมปฏิบัติตามแผนเฝ้าระวังที่ได้มีการอบรมไว้แล้ว

 

พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน -น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม