ไทยหลุดโผ 95 ประเทศได้สูตรผลิต “แพกซ์โลวิด” ยารักษาโควิด

16 พ.ย. 2564 | 14:34 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2564 | 22:52 น.

ไฟเซอร์ บรรลุข้อตกลงด้านสิทธิบัตรยากับ MPP อนุญาตให้ 95 ประเทศที่เข้าเกณฑ์ได้รับช่วงสิทธิบัตรการผลิต“แพกซ์โลวิด” ยารักษาโควิด แต่ไม่มีรายชื่อประเทศไทย

องค์กรสิทธิบัตรยาร่วม (MPP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า MPP ได้บรรลุข้อตกลงด้านสิทธิบัตรยากับบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ โดยทางบริษัทจะอนุญาตให้ผู้ผลิตยาสามัญสามารถจำหน่ายยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางจำนวน 95 ประเทศทั่วโลก

 

ทั้งนี้ บริษัทที่ต้องการผลิตยาแพกซ์โลวิดสามารถยื่นเรื่องต่อ MPP เพื่อขอการอนุมัติ โดย MPP จะมอบช่วงสิทธิบัตรให้แก่บริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขภายในประเทศในการผลิตยาดังกล่าว

MPP คาดการณ์ว่ายาแพกซ์โลวิดจะเข้าถึง 95 ประเทศดังกล่าวภายในเวลาอีกไม่กี่เดือน

 

ประเทศที่เข้าเกณฑ์ได้รับช่วงสิทธิบัตรการผลิตยาแพกซ์โลวิดทั้ง 95 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียและแอฟริกา โดยอยู่ในกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (SSA), กลุ่มประเทศรายได้ต่ำ (LIC), กลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง (LMIC) และกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (UMIC)

สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอยู่ 6 ประเทศที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนประเทศที่ไม่อยู่ในรายชื่อ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย

 

รายชื่อ 95 ประเทศที่รับสิทธิผลิตยาแพกซ์โลวิด ประกอบด้วย 
Afghanistan, Algeria, Angola, Armenia, Bangladesh, Belize, Benin, Bhutan, Bolivia (Plurinational State of), Botswana, Burkina Faso, Burundi, Cabo Verde, Cambodia, Cameroon, Central African Republic, Chad, Comoros, Congo, democratic Republic of the,Congo, Côte d'Ivoire, Djibouti, Egypt, El Salvador, Equatorial Guinea, Eritrea, Eswatini, Ethiopia, Gabon, Gambia (the), Georgia, Ghana, Guatemala, Guinea, Guinea-Bissau, Haiti, Honduras

 

India, Indonesia, Iran (Islamic Republic of), Jordan, Kenya, Kiribati, Korea (Democratic People's Republic of), Kosovo, Kyrgyzstan, Lao People's Democratic Republic (the), Lesotho, Liberia, Madagascar, Malawi, Mali, Mauritania, Micronesia (Federated States of), Moldova, Republic of, Mongolia, Morocco

 

Mozambique, Myanmar, Namibia, Nepal, Nicaragua, Niger, Nigeria, Pakistan, Papua New Guinea, Philippines, Rwanda, Samoa, Sao Tome and Principe, Senegal, Sierra Leone, Solomon Islands, Somalia, South Africa, South Sudan, Sri Lanka, Sudan

 

Syrian Arab Republic, Tajikistan, Tanzania, United Republic of, Timor-Leste, Togo, Tonga, Tunisia, Uganda, Ukraine, Uzbekistan, Vanuatu, Venezuela (Bolivarian Republic of), Viet Nam, Yemen, Zambia, Zimbabwe

 

การบรรลุข้อตกลงระหว่าง MPP และบริษัทไฟเซอร์ในวันนี้มีขึ้น หลังจากที่ MPP ได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ก่อนหน้านี้เช่นกันในการมอบสูตรการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ให้แก่ 105 ประเทศทั่วโลก

 

บริษัทเมอร์คและไฟเซอร์จะไม่เรียกเก็บค่าตอบแทนจากบริษัทที่ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิด ตราบใดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงระบุว่าโรคโควิด-19 ถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

 

ไฟเซอร์เปิดเผยว่า ผลการทดลองพบว่า ยาแพกซ์โลวิดสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89% โดยสูงกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค ซึ่งมีประสิทธิภาพเพียง 50%

 

ยา 1 คอร์สของเมอร์คประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน

 

ส่วนผู้ที่จะรับประทานยาของไฟเซอร์จะต้องรับทั้งยาแพกซ์โลวิด พร้อมกับยาริโทนาเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาผู้ติดเชื้อ HIV โดยยา 1 คอร์สของไฟเซอร์ประกอบด้วยยาแพกซ์โลวิด 20 เม็ดและริโทนาเวียร์ 10 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาแพกซ์โลวิดขนาด 150 มิลลิกรัม 2 เม็ดต่อครั้ง คู่กับยาริโทนาเวียร์ 100 มิลลิกรัม 1 เม็ดต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน

 

ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้การอนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิดเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยคาดว่าจะให้การอนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์ในช่วงต้นเดือนธ.ค. และจะให้การอนุมัติยาแพกซ์โลวิดหลังจากนั้น