ข้อควรรู้ ลอยกระทง 2564 กทม. ก่อนเข้างานต้องทำอย่างไร

17 พ.ย. 2564 | 08:02 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ย. 2564 | 15:04 น.

ลอยกระทง 2564 กทม. จัดงาน 2 จุดใหญ่ วิถีไทย สไตล์ New Normal คัดกรองผู้เข้าร่วมงานอย่างเข้มงวด ต้องโชว์ผลฉีดวัคซีน 2 เข็ม หรือ ATK ก่อนเข้างาน พร้อม รณรงค์ลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 1 ครอบครัว 1 กระทง

17 พ.ย.64 เมื่อเวลา 10.00 น. นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานงานแถลงข่าว การจัดงานเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2564 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร ซึ่งกรุงเทพมหานครจัดขึ้นเพื่อสืบสานประเพณีวิถีไทยและวิถีชีวิตของชุมชนที่มีต่อสายน้ำ อันเป็นประเพณีไทยที่ดีงามซึ่งสืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยยึดหลัก COVID-Free Setting (มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร) และ Universal Prevention (การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล) อย่างเคร่งครัด

 

ข้อควรรู้ ลอยกระทง 2564 กทม. ก่อนเข้างานต้องทำอย่างไร

การจัดงานเทศกาลลอยกระทงในปีนี้ กรุงเทพมหานครกำหนดกิจกรรมใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ บริเวณใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด และคลองโอ่งอ่าง เขตสัมพันธวงศ์และเขตพระนคร พร้อมทั้งเปิดสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร 30 แห่ง ให้ประชาชนลอยกระทง โดยทุกพื้นที่จัดงานยึดหลัก D – M – H – T – A ตามมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) อย่างเคร่งครัด ได้แก่

 

D (Distancing)จัดให้มีการทำสัญลักษณ์เพื่อเว้นระยะห่างบริเวณพื้นที่ที่จัดให้ลอยกระทง หรือจัดให้เข้าแถวให้เป็นระเบียบ เพื่อลดความแออัด 
M (Mask wearing) กำหนดให้ผู้บริการ ผู้ค้า ผู้เข้าร่วมงานทุกคน ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 

H (Hand washing) จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือบริเวณต่าง ๆ เพื่อบริการประชาชนภายในบริเวณงานอย่างทั่วถึง 

T (Testing) จัดให้มีจุดคัดกรองผู้เข้าร่วมงานอย่างเข้มงวดด้วยเครื่องสแกนแบบวัดความร้อนในร่างกาย ผู้ค้าได้รับวัคซีนครบ 2 โดส หรือมีผลตรวจ ATK เป็นลบ 

A (Application) จัดให้มีการสแกน QR Code ลงทะเบียนไทยชนะก่อนเข้าบริเวณงาน
 

กทม.ยังได้ บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เช่น สำนักเทศกิจ กองบังคับการตำรวจน้ำ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สน.พื้นที่ หน่วยงานด้านความมั่นคง กรมเจ้าท่า อาสาสมัครมูลนิธิ และภาคเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน ทั้งการป้องกันอุบัติเหตุและอุบัติภัย การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19 
 

นอกจากนี้ยังมีการควบคุมการจำหน่ายและการเล่นพลุ ดอกไม้ไฟ และโคมลอย รณรงค์ลอยกระทงปลอดเหล้า รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนลอยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ และ 1 ครอบครัว 1 กระทง เพื่อลดปริมาณขยะและช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม

 

ข้อควรรู้ ลอยกระทง 2564 กทม. ก่อนเข้างานต้องทำอย่างไร

แสดงผลฉีดวัคซีน 2 เข็ม หรือผลตรวจ ATK ก่อนเข้างาน

 

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับการจัดงานลอยกระทงในปีนี้นั้นเนื่องจากอยู่ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 กรุงเทพมหานครจึงจัดงานลอยกระทงขึ้นภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยผู้ที่มาร่วมงานลอยกระทงกรุงเทพมหานครทั้ง 2 จุด จะต้องแสดงผลการฉีดวัคซีน 2 เข็ม หรือผลตรวจ ATK ภายใน 72 ชั่วโมงที่มีผลเป็นลบมาแสดงก่อนเข้างาน 

จากนั้น เจ้าหน้าที่จะตรวจวัดอุณหภูมิ หากอุณหภูมิปกติก็สามารถเข้าร่วมงานได้ แต่หากอุณหภูมิสูงจะมีจุดที่จัดเตรียมไว้ให้นั่งพักแล้ววัดอุณหภูมิใหม่ หากอุณหภูมิปกติก็เข้าร่วมงานได้ หากอุณหภูมิไม่ลดและมีความเสี่ยงจะมีการตรวจ ATK ก่อน หากผลตรวจเป็นลบสามารถเข้าร่วมงานได้ กรณีพบผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกในบริเวณงานจะมีเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมสำหรับการนำส่งผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาต่อไป
 

การจัดงานจะมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานแต่ละจุดอยู่ที่ 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร มีการนับจำนวนคนเข้างานไม่ให้เกินจำนวนที่กำหนด หากมีคนออกเท่าไหร่ก็ให้คนเข้าร่วมงานใหม่เพิ่มเท่านั้น ซึ่งในบริเวณงานมีร้านค้าจำหน่ายอาหารและสินค้าต่าง ๆ แต่ไม่อนุญาตให้มีร้านนั่งกิน ให้เป็นการซื้อกลับเท่านั้น นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้เข้มงวดประชาชนเรื่องการห้ามเล่น จำหน่าย พลุ ดอกไม้ไฟ โคมลอย ในสถานที่ต่าง ๆ ด้วย หากภาคเอกชนมีการจัดงานและจะมีการจุดพลุจะต้องขออนุญาตจากสำนักงานเขตก่อน ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้สำนักงานเขตที่มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนให้มีการป้องกันและเฝ้าระวังเหตุน้ำหนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด


ลอยกระทงพระราม 8 ลอยกระทงวิถีไทย สไตล์ New Normal

 

กรุงเทพมหานคร จัดงานลอยกระทง ณ สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด ในวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ระหว่างเวลา 17.00 – 22.00 น. ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คสำคัญในการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเทพมหานครเป็นประจำทุกปี ในปีนี้มีการจำลองบรรยากาศตลาดโบราณย้อนยุค การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร (Bangkok Brand) ของดี 50 เขต ทั้งสินค้าหัตถกรรมและอาหารพื้นบ้าน กว่า 70 ร้านค้า และการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย อาทิ การแสดง แสง สี เสียง ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับเทศกาลประเพณีลอยกระทง การแสดงพื้นบ้าน/การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย การแสดงลำตัด และเพลงเรือ การแสดงจากศิลปินชื่อดัง อาทิ หญิงลี ศรีชุมพล นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัดจุดถ่ายภาพ เช็คอินและแชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Check & Share)

 
ลอยกระทงคลองโอ่งอ่าง รื่นเริงรัตนโกสินทร์ วิถี New Normal 

 

ในส่วนของการจัดงาน ลอยกระทงคลองโอ่งอ่าง จัดขึ้นบริเวณริมคลองโอ่งอ่างช่วงสะพานหัน เขตสัมพันธวงศ์และเขตพระนคร ระหว่างวันที่ 19 – 21 ตุลาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป โดยปีนี้จัดอย่างยิ่งใหญ่ ขยายพื้นที่การจัดงานเริ่มตั้งแต่ช่วงสะพานดำรงสถิต สะพานภาณุพันธ์ สะพานหัน สะพานบพิตรภิมุข สะพานโอสถานนท์ จนถึงสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้ชมแม่น้ำเจ้าพระยาในค่ำคืนพระจันทร์เต็มดวงที่สวยที่สุด และได้ขยายถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่แยกถนนราชวงศ์ แยกวัดตึกไปถึงสะพานภาณุพันธ์ ภายในงานมีกิจกรรมการแสดงมากมาย อาทิ การแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงดนตรีไทย และดนตรีร่วมสมัย การแสดงมินิคอนเสิร์ตจาก วง Wonder Frame และดื่มด่ำกับบรรยากาศ ถนนคนเดินริมคลองโอ่งอ่าง Street Art , Street Performance, ดนตรีเปิดหมวก และอีกมากมาย

ลอยกระทงปลอดภัย ไร้โควิด-19 

การจัดงานทั้ง 2 พื้นที่ กรุงเทพมหานครได้กำหนดมาตรการดูแลและขอความร่วมประชาชนที่มาร่วมงานปฏิบัติตามแนวทางด้านสาธารณสุขเพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และแนวทางปฏิบัติตามมาตรการผ่อนคลายกิจการและกิจกรรม (COVID Free Setting) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับการแสดงมหรสพประเภทนอกอาคาร ของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวัฒนธรรมอย่างเคร่งครัด

 

รณรงค์ลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติ  1 ครอบครัว 1 กระทง 

กรุงเทพมหานคร ขอความร่วมมือประชาชนใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติและงดใช้โฟม เป็นการส่งเสริมการลอยกระทงควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเลือกกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กระทงที่ทำจากหยวกกล้วยและใบตอง แป้งมันสำปะหลัง ชานอ้อย หรือกระทงขนมปัง และลอยกระทงร่วมกัน 1 ครอบครัว 1 กระทง ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในปี 2563 กรุงเทพมหานครจัดเก็บกระทงได้ จำนวน 492,537 ใบ กระทงส่วนใหญ่ จำนวน 474,806 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย คิดเป็นร้อยละ 96.4 และกระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 17,731 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.6 ซึ่งลดลงจากปี 2562 ที่จัดเก็บกระทงได้จำนวน 502,024 ใบ กระทงส่วนใหญ่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้ จำนวน 483,264 ใบ คิดเป็นร้อยละ 96.3 และกระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 18,760 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.7 และในปี 2561 จัดเก็บกระทงได้ทั้งหมด 841,327 ใบ เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้ จำนวน 796,444 ใบ หรือคิดเป็น 94.7% ส่วนกระทงโฟมจัดเก็บได้ จำนวน 44,883 ใบ คิดเป็น 5.3%

 

ห้ามจุดพลุ ดอกไม้เพลิง ฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย

 

ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร ยังได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรการป้องกันอันตรายจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ในช่วงวันลอยกระทง ประจำปี 2564 เพื่อขอความร่วมมือจากผู้ผลิต สะสม จำหน่ายผู้เล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอย ตลอดจนประชาชนทั่วไป ห้ามมิให้จุดพลุ ประทัด และห้ามปล่อยโคมลอย หากฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังห้ามจำหน่ายและห้ามเล่นประทัดจีนทุกชนิด ประทัดรูปทรงกลม รูปไข่ รูปสามเหลี่ยม และไดนาไมท์ ฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ โดยจะดำเนินการกวดขัน จับกุมผู้ฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด รวมทั้งได้มีการตรวจสอบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ของกรุงเทพมหานคร บริเวณจัดงานฯ และสวนหลวงพระราม 8 ซึ่งมีจำนวน 37 กล้อง ให้สามารถใช้งานได้ทุกกล้อง

 

ข้อควรรู้ ลอยกระทง 2564 กทม. ก่อนเข้างานต้องทำอย่างไร

กทม. เปิด 30 สวนสาธารณะ ลอยกระทง 

 

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้เปิดสวนสาธารณะ 30 แห่ง ให้ประชาชนลอยกระทงตั้งแต่เวลา 05.00 – 24.00 น. และสำนักงานเขตได้บูรณาการทำงานร่วมกับภาคประชาชนและเอกชนในการจัดงานเทศกาลลอยกระทงในพื้นที่ 50 เขต นอกจากนั้น กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กองทัพเรือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และองค์กรภาคีเครือข่ายอีกหลายภาคส่วน จัดงานเทศกาลสายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 17 – 19 พฤศจิกายน 2564 ภายใต้แนวคิด “วันเพ็ญ เย็นใจ” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย โดยเน้นด้านศิลปวัฒนธรรมและประเพณีไทยอันมีเอกลักษณ์ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

งานดังกล่าวจะจัดขึ้นใน 8 พื้นที่หลักของกรุงเทพมหานคร เชื่อมต่อโค้งน้ำที่ยาวที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยการร้อยเรียงท่าน้ำสำคัญริมแม่น้ำด้วยการจัดการคมนาคมขนส่งอำนวยความสะดวกเป็นเรือ Shuttle Boat บริการฟรี ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ตั้งแต่เวลา 16.00 – 22.00 น. ประกอบด้วย วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ท่ามหาราช ไอคอนสยาม และเอเชียทีค เดอะรีเวอร์ฟร้อนท์ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวจะได้ไหว้พระ ทำบุญ ร่วมกิจกรรมลอยกระทง ชมการแสดงทางวัฒนธรรม และดนตรีหลากหลายรูปแบบในบรรยากาศที่งดงามของสายน้ำยามค่ำคืน

 

ทั้งนี้ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของโป๊ะ ท่าเทียบเรือ การเฝ้าระวังการเล่นประทัดดอกไม้ไฟในทุกพื้นที่การจัดงานตลอดทั้งคืน โดยหากประชาชนพบเห็นเหตุสาธารณภัย สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ทาง สายด่วนโทร. 199 และ 1555 ตลอด 24 ชั่วโมง