ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งเตือนอาสาสมัครเครือข่ายกรมทรัพยากรธรณีและประชาชนทั่วไปพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ให้เฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2564 สำหรับรายชื่อพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมีดังนี้
บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม มีดังนี้
ทั้งนี้เนื่องจากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง วัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 100 มิลลิเมตร ระดับน้ำในลำคลองเพิ่มสูงขึ้นมีน้ำหลากเกิดขึ้นในบางพื้นที่แล้ว อาจส่งผลให้เกิดดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยและทำการวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง
หากเกิดเหตุให้แจ้งเตือนสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากให้ประชาชนในหมู่บ้านได้รับทราบ และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมปฏิบัติตามแผนเฝ้าระวังที่ได้มีการอบรมไว้แล้ว
ด้านกรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อม โดยดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ภายหลังการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซียเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ส่งผลให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ขณะที่ปัจจุบันยังมีพื้นที่ประสบอุทกภัยในอีก 11 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม และภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง
กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมในการรับมือฝนที่อาจตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ ด้วยการพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ ให้สอดคล้องกับการขึ้น - ลง ของระดับน้ำทะเล รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือไว้ในพื้นที่ภาคใต้
ทั้งนี้กรมชลประทานดำเนินการเตรียมความพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือในพื้นที่ภาคใต้รวม1,189 หน่วย แบ่งเป็น เครื่องสูบน้ำ 350 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 440 เครื่อง รถแทรกเตอร์/รถขุด 196 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ 203 หน่วย ไว้ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม รวมไปถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรองให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างรวดเร็ว