สปสช.จ่ายเงินเยียวยาแพ้วัคซีนโควิดแล้ว 674 ล้านบาท

29 พ.ย. 2564 | 09:44 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2564 | 17:13 น.

สปสช.จ่ายเงินเยียวยาแพ้วัคซีนโควิดแล้วกว่า 674 ล้านบาท จากผู้ยื่นคำร้องจำนวน 9,809 ราย พร้อมแนะผู้ได้รับผลกระทบยื่นคำร้องตามขั้นตอนที่กำหนด ยืนยันคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องฯเร่งดำเนินการ

สปสช.เปิดเผยข้อมูลการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 (ข้อมูล ณ วันที่ 29 พ.ย. 2564) โดยจ่ายเงินทั้งหมด 674,946,600 บาท มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามาทั้งหมดจำนวน 9,809 รายและยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาอีก 1,628 ราย  โดยคณะอนุกรรมการระดับเขตได้พิจารณาจ่ายเงินชดเชยแล้ว 6,637 ราย และพิจารณาไม่จ่าย 1,544 ราย เนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์ ในจำนวนนี้อุทธรณ์ 552 ราย

 

สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ระดับตามความรุนแรงของอาการไม่พึงประสงค์นั้นๆ โดยรายละเอียดมีดังต่อไปนี้ 

 

  • ระดับ 1 มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท มีผู้รับเงินเยียวยาแล้ว 5,082 ราย 
  • ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท มีผู้รับเงินเยียวยาแล้ว 137 ราย 
  • ระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท มีญาติผู้เสียชีวิตรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว 1,418 ราย
     

นางจินตนา กวาวปัญญา หัวหน้าหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระ ตามมาตรา 50 (5) จ.นนทบุรี กล่าวว่า จากกรณีที่ประชาชนเมื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือในเบื้องต้นได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โรงพยาบาลที่ไปรับการฉีดวัคซีน หรือ ติดต่อหน่วย 50 (5) ใกล้บ้าน รวมทั้ง สปสช.เขตพื้นที่ และ สายด่วน 1330

 

โดยกรณีได้รับผลกระทบจนต้องได้รับการดูแลจากแพทย์หรือต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล เอกสารที่ใช้คือสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาหน้าบัญชีเงินฝาก ประวัติการฉีดวัคซีน สำเนาเอกสารการสอบสวนโรคของกระทรวงสาธารณสุข ใบรับรองแพทย์ และกรณีนอนในโรงพยาบาลต้องมีประวัติและรูปภาพประกอบด้วย

 

ส่วนกรณีฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต ต้องใช้สำเนาใบมรณะบัตรของผู้เสียชีวิต สำเนาบัตรประชาชนของผู้ยื่นคำร้อง เช่น ทายาทหรือผู้อยู่ในการอุปการะ สำเนาหน้าสมุดธนาคาร และรายละเอียด Timeline การรับวัคซีน


ด้านนพ.ธนกร ศรัณยภิญโญ อนุกรรมการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องกรณีผู้รับบริการได้รับผลกระทบจากวัคซีนโควิด-19 เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า ผลข้างเคียงกับอาการแพ้คือสิ่งเดียวกัน แต่ผลข้างเคียงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วยอมรับได้ ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย  ขณะที่อาการแพ้คือผลข้างเคียงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมีผลเสียต่อร่างกาย

 

ทั้งนี้ในพื้นที่ สปสช. เขต 4 สระบุรี ซึ่งประกอบด้วย 8 จังหวัดภาคกลาง มีผู้ยื่นคำร้องสัปดาห์ละประมาณ 100-150 ราย ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับปริมาณการฉีดทั้งหมด

 

นพ.ธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า  เมื่อได้รับคำร้องขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้นมาแล้ว กรณีที่ข้อมูลสมบูรณ์ เอกสารครบถ้วน คณะอนุกรรมการจะพยายามพิจารณาคำร้องให้เร็วที่สุด โดยปกติจะมีการประชุมพิจารณาทุกสัปดาห์ ดังนั้นผู้ยื่นคำร้องจะใช้เวลารอผลประมาณ 1-2 สัปดาห์ จากนั้นเมื่อมีคำตัดสินแล้ว สปสช. ก็จะโอนเงินให้เลย ทั้งนี้ผู้ยื่นคำร้องสามารถยื่นคำร้องได้ภายในระยะเวลา 2 ปีนับจากที่ทราบว่าได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน

 

ในส่วนของแนวทางการพิจารณาจ่ายเงินเยียวยานั้น เบื้องต้นจะดูจากระยะเวลาและอาการที่แสดงออก กรณีเป็นผลข้างเคียงที่ไม่เป็นผลเสียต่อร่างกาย เช่น ฉีดแล้วเป็นไข้แต่ทานยาแล้วหาย ปวดหัว ปวดเมื่อยเนื้อตัว เป็นอาการที่หายได้เองและไม่กระทบกับการดำรงชีวิต หรือเป็นอาการบางอย่างที่ชัดเจนว่าเป็นผลจากโรคอื่นที่ป่วยอยู่ก่อนแล้ว คณะอนุกรรมการอาจไม่พิจารณาจ่ายเงินเยียวยาให้ 

 

แต่ถ้าฉีดวัคซีนแล้วแล้วเกิดอาการความดันโลหิตสูง ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ มีอาการอาการคลื่นไส้ ท้องเสียรุนแรงต้องให้น้ำเกลือ อาการเหนื่อยหอบ เส้นเลือดอักเสบ เส้นเลือดแตก อาการโรคหัวใจ หรืออาการอื่นๆ ที่ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ ทางคณะอนุกรรมการจะพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาให้เร็วที่สุด และเมื่อมอบเงินเยียวยาไปแล้วจะไม่มีการเรียกคืนแม้ว่าในภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าอาการไม่พึงประสงค์ไม่ได้เกิดจากวัคซีนก็ตาม

 

"ในการพิจารณาจำนวนเงินเยียวยา คณะอนุกรรมการจะพิจารณาจากข้อมูล ณ วันที่มีการตัดสิน แต่ถ้าหากอาการของโรคไม่คงที่ มีคำพิจารณาเยียวยาไปแล้วแต่ผู้ได้รับผลกระทบมีอาการรุนแรงขึ้นหรือต้องรักษาตัวต่อไป ก็สามารถยื่นคำร้องซ้ำได้ ส่วนผู้ที่คำร้องขอรับเงินเยียวยาไม่ผ่านการพิจารณาแล้วไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน ก็ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ไปที่คณะกรรมการที่ส่วนกลางเพื่อพิจารณาได้อีกครั้งหนึ่ง"