รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
โอไมครอน (Omicron) อาจทำให้โควิด-19 ยุติการระบาดต่อมนุษยชาติได้ ในมุมมองที่ดีที่สุด เนื่องจากไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ที่ก่อโรคโควิด-19 เป็นไวรัสสารพันธุกรรมเดี่ยวที่เรียกว่าอาร์เอ็นเอ (RNA) จึงมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา กลายพันธุ์ไปแล้ว กว่า 1000 สายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อย
แต่มีสายพันธุ์ที่คนรู้จักอยู่ประมาณ 10 สายพันธุ์ เพราะจะต้องมีลักษณะที่ทั้งแพร่ระบาดรวดเร็วกว้างขวาง และสร้างการเจ็บป่วยที่มีอาการมาก หรือดื้อต่อวัคซีน
แต่จะมีไวรัสจำนวนมาก ที่แพร่ระบาดไม่รวดเร็วกว้างขวาง ก็จะไม่ได้รับความสนใจจากมนุษย์
ขณะเดียวกันไวรัสที่ก่ออาการรุนแรง แต่ไม่ได้แพร่ระบาดรวดเร็วกว้างขวาง ก็จะไม่มีความสำคัญกับมนุษยชาติเช่นกัน
การพิจารณาลักษณะเด่นของไวรัสสามประการ จะทำให้สามารถคาดการณ์การกลายพันธุ์ของไวรัสได้ว่า จะมีผลกระทบกับมนุษยชาติอย่างไรบ้าง
1.ความสามารถในการแพร่ระบาด(Transmissibility) ว่ารวดเร็ว กว้างขวางมากเพียงใด
2.การก่อโรคที่สร้างอาการรุนแรงในมนุษย์ (Severity of Disease)
3.การดื้อต่อวัคซีน (Effectiveness of Vaccine)
ในฉากทัศน์ (Scenario)ที่ดีที่สุดสำหรับมนุษยชาติ ก็คือ ไวรัสจะต้องมีการแพร่ที่รวดเร็วกว้างขวางมากในประเด็นที่หนึ่ง ต้องรวดเร็วกว้างขวางมากเพียงพอที่จะครอบคลุมทุกสายพันธุ์ จนเหลือเป็นสายพันธุ์เดียว และต้องโชคดี ไวรัสไม่ก่อให้เกิดอาการเลย เป็นการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ
ส่วนประเด็นดื้อแต่วัคซีนหรือไม่ ก็จะไม่มีความสำคัญหรือจำเป็น ถ้าไวรัสโอไมครอนมีประเด็นที่หนึ่งคือแพร่ระบาดกว้างขวางครอบคลุมทั้งโลก และมีประเด็นที่สองคือไม่รุนแรงไม่มีอาการ ประเด็นที่สามเรื่องดื้อแต่วัคซีนก็จะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
เมื่อไวรัสโอไมครอนระบาดจนแซงเดลตาสำเร็จแล้ว แต่ตัวเองไม่มีความรุนแรงไม่ก่อให้เกิดอาการ โควิด-19 ก็จะยุติลงโดยสมบูรณ์
ส่วนถ้าเป็นกรณีอื่น ก็จะมีความรุนแรงผลกระทบต่อมนุษยชาติแตกต่างกันออกไป แม้ไวรัสโอไมครอนจะไม่เป็นไปในทางดีที่สุด แต่ในอนาคตก็อาจจะมีไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง ที่มีลักษณะดังกล่าว โควิด-19 ก็จะยุติลงได้
โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันหมู่แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือการที่มีการติดเชื้อมากพอจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ก็ยังเป็นอีกหนึ่งฉากทัศน์ที่จะทำให้โรคระบาดโควิด-19 ยุติลงได้เช่นกัน
ต้องลุ้นและติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดกันต่อไปว่า โควิด-19 จะยุติลงด้วยฉากทัศน์แบบใด ระหว่างไวรัสกลายพันธุ์แพ้ภัยตนเองจนไม่ก่อโรค หรือมนุษยชาติวิจัยพัฒนาวัคซีนจนป้องกันได้สำเร็จ หรือไวรัสระบาดมาก จนมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันหมู่สำเร็จ เป็นการมองด้วยความรู้ทางวิชาการ
สำหรับสถานการรืการติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 7 ธันวาคม 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 3,525 ราย
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,119,903 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย หายป่วยเพิ่ม 6,109 ราย กำลังรักษา 66,395 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,033,948 ราย