วันที่ 22 ธ.ค.64 พญ.สุมณี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แถลงข่าว ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลช่วงหนึ่งถึงการปรับมาตรการป้องกันควบคุมโควิด-19 สำหรับสถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนว่า
มติที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.64 ในเรื่องการรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุโอมิครอน มีมติดังนี้
กลุ่มแรก ที่จะเข้ามาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.64 จะงดรับลงทะเบียนผ่าน Thailand Pass ในประเภท Test and Go และ Sandbox ไว้เป็นการชั่วคราว ยกเว้น Phuket Sandbox และการเข้ามาแบบกักตัว
กลุ่มที่สอง ที่ลงทะเบียนเพื่อเข้าประเทศก่อนหน้านี้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมการกงศุลรายงานว่า มีจำนวนประมาณ 2 แสนคน ยังสามารถเข้ามาได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดแต่เดิม แต่ที่ประชุมเมื่อวานนี้(21 ธ.ค.64) มีมติว่าคนกลุ่มนี้ เมื่อเข้ามาแล้วต้องมีการปรับเพิ่มมาตรการเพื่อความปลอดภัย
มาตรการที่เพิ่มขึ้น ก็คือ คนกลุ่มนี้เมื่อมาถึงประเทศไทยและได้ตรวจ PCR เป็นลบ สามารถเดินทางต่อได้โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือ ต้องสามารถติดตามตัวได้ตลอดเวลา เพื่อติดตามอาการ และต้องแจ้งได้ด้วยว่า เวลานี้อยู่ที่ไหน ต้องมีการติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะทุกคน และที่สำคัญต้องกลับมาตรวจ PCR ซ้ำ ในวันที่ 5 หรือวันที่ 6 ก่อนที่จะครบ 7 วัน กับโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในการตรวจครั้งที่ 2 รัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจให้
จากการที่มีรายงานช่วงก่อนหน้านี้ว่า มีนักท่องเที่ยวหลุดจากระบบการติดตาม จากนี้ต้องขอให้ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ และการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้มีความเข้มงวดเป็นพิเศษ เพราะว่า เราอยู่ระหว่างการสกัดกั้นไม่ให้สายพันธุ์โอมิครอนระบาดเป็นวงกว้าง หรือมีการระบาดในประเทศ ก็ขอให้มีการระบาดน้อยที่สุด ถ้าเจอจะได้จำกัดวงการระบาดได้โดยไว
พญ.สุมณี กล่าวต่อไปว่า โดยในวันนี้ในที่ประชุมศบค.ชุดเล็ก ในที่ประชุม ผอ.ศบค.ชุดเล็กได้ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดตั้งศูนย์ฯเพื่อตรวจสอบทางเดินทางเข้าทางช่องทางท่าอากาศยานทุกช่องทาง ให้มีการติดตามการเดินทางจนถึงการเข้าที่พัก และมีการติดตามการตรวจครั้งที่ 2 ให้ครบทุกราย ในช่วง 7 วันที่เข้ามาในประเทศ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมเป็นคณะทำงานกับกระทรวงการท่องเที่วและกีฬา ได้แก่
กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงสาธารณสุข, EOC ทุกท่าอากาศยาน, สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.), กระทรวงมหาดไทย ที่สำคัญ คือ ผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก และโรงพยาบาลที่ปฏิบัติการคู่กับโรงแรม
นอกจากนี้ในที่ประชุมศบค.ชุดเล็ก ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเน้นย้ำ พร้อมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
"หลังตรวจ RT-PCR แล้ว ขอให้นักท่องเที่ยวพักอยู่ในห้องเพื่อรอผลตรวจก่อน โดยให้ผู้ประกอบการช่วยดูแลไม่ให้เดินทางออกไปก่อน และยังต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการปลอดภัย เช่น สวมหน้ากากอนามัย เพราะมีโอกาสที่จะแพร่เขื้อ หรือรับเชื้อจากคนอื่น" พญ.สุมณี กล่าว
ส่วนการปรับมาตรการคนในประเทศ เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ห้ามลาไปต่างประเทศ ยกเว้นมีเหตุจำเป็น สำหรับคนไทยที่จะเดินทางไปต่างประเทศให้พิจารณาชะลอ ยกเลิกการเดินทางที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะเดินทางไปประเทศทางยุโรป อเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง