24 ธ.ค. 64 ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 12/2564 ว่า พฤติกรรมช่วงปีใหม่ที่มีความน่ากังวล คือ การรวมกลุ่มกันเป็นอันตรายที่สุด ทั้งนี้ ที่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เกิด คลัสเตอร์การแพร่ระบาดของโอมิครอน ขึ้นแล้ว
“กรณีนี้เป็นการนำเชื้อโดยผู้ติดเชื้อมาให้คนอื่น ซึ่งมีคำแนะนำชัดเจน DMHTT ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน โดยเฉพาะถังน้ำแข็ง แก้วเหล้า แก้วเครื่องดื่ม รวมถึงฉีดวัคซีนให้ครบโดส ก็ไม่มีปัญหาแน่นอน” นายอนุทิน กล่าวและว่า การติดเชื้อโอมิครอนของผู้ที่เดินทางมากจากต่างประเทศนั้น รู้ต้นตอว่ามาจากไหน แต่หากใครที่เดินทางกลับบ้าน ก็ขอให้ตรวจ ATK ก่อนไปพบผู้อื่นและญาติพี่น้อง อย่างกรณี สามี-ภรรยา จ.กาฬสินธุ์ ที่เดินทางมาจากยุโรป เบื้องต้นตรวจ RT-PCR ไม่พบเชื้อก็กลับกาฬสินธุ์ ต่อจากนั้นไปหาญาติ จ.อุดรธานี แล้วไม่ได้ตรวจซ้ำ ก็ไปแพร่เชื้อต่ออีก 20 ราย ทั้งครอบครัว พนักงานร้านอาหาร และลูกค้าในร้าน รวมติดเชื้อกรณีนี้แล้ว 22 ราย ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์โอมิครอน และยังมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีกร่วมร้อยราย ทำให้ตอนนี้ไทยพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสะสมแล้ว 205 ราย
ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีของสามีภรรยาที่ จ.กาฬสินธุ์ ถือเป็นอุทาหรณ์ว่าต้องไม่ประมาท เพราะการเดินทางเข้ามาด้วยระบบ T&G (Test & Go) แม้จะมีการตรวจ RT-CPR ก่อนเข้าไทย 72 ชม. เมื่อเข้าไทยตรวจซ้ำอีกครั้งในรอบ 24 ชม. ก็ยังไม่การันตีว่าจะไม่ติดเชื้อ
ทั้งนี้ เพราะอาจอยู่ในช่วงระยะฟักตัวของโรค ฉะนั้น สำหรับคนไทยที่เพิ่งกลับเข้าประเทศมาในช่วง อย่าเพิ่งรีบไปพบญาติ หรือรวมตัวกัน เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อจากช่วงระยะฟักตัว และคนที่มีญาติเพิ่งมาจากต่างประเทศก็อย่าเพิ่งรีบไปเจอ หรือรวมตัวกัน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เคสนี้ถือเป็นอุทาหรณ์อย่างดี ว่าทำไมถึงต้องมีการปรับและระงับมาตรการ T&G ชั่วคราว ทั้งนี้ ก็เพื่อวางระบบใหม่ เพราะอาจมีเคสแบบนี้หลุดรอดออกจากระบบได้ จึงต้องใช้กลไกการเฝ้าระวังสอบสวนโรคแบบละเอียดเพื่อหาคนใกล้ชิด หรือที่เรียกว่า วง 1 หรือวง 2 รวม ตอนนี้คลัสเตอร์กาฬสินธุ์ 22 คน และเสี่ยงสูงอีกจำนวนมากนับร้อย ถือเป็นคลัสเตอร์แรกที่มีการติดเชื้อในประเทศ และมีการแพร่ระบาดในจังหวัดกาฬสินธุ์และอุดรธานี ต้องสอบไทม์ไลน์อย่างละเอียด สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อจากเคสนี้ คือ การรับประทานอาหารร่วมกัน นั่งอยู่ที่อากาศไม่ถ่ายเท หรืออากาศปิด และมีการพูดคุยกันเป็นเวลานาน
นพ.โอภาส ให้คำแนะนำว่า ฉะนั้น การทำกิจกรรมในหมู่ญาติก็ต้องระวัง สวมหน้ากากอนามัย และนั่งในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และอย่าทำกิจกรรมร่วมกันนานเกินไป การตรวจไม่เจอเชื้อทั้ง RT-PCR และ ATK ก็เป็นแค่การยืนยันในวันนั้นวันเดียวว่าไม่เจอเชื้อ ไม่ได้หมายความว่าวันอื่นจะไม่เจอเชื้อ ดังนั้นระบบของ T&G จึงปรับมีการตรวจใหม่ มีการตรวจ RT-CPR 72 ชม. ก่อนเข้าไทย และ ตรวจเมื่อถึงไทย 24 ชม. จากนั้น 5-6-7 วัน จึงค่อยมาตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง ฉะนั้น คนที่เพิ่งกลับมาอย่าเพิ่งไปไหน เพราะอาจมีความเสี่ยงที่อยู่ในช่วงระยะฝักตัวของเชื้อก็ได้
สำหรับไทม์ไลน์การเดินทางของสองสามี-ภรรยาที่เดินทางจากเบลเยียม กลับบ้านที่ จ. กาฬสินธุ์นั้น ฐานเศรษฐกิจเคยนำเสนอไปแล้ว (อ่านเพิ่มเติม: เผยไทม์ไลน์ 2 คนไทยติดโอมิครอนจากเบลเยี่ยม พบเดินทางหลายพื้นที่) ขอนำมาประกอบไว้ตรงนี้อีกครั้ง ดังนี้