รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า โควิด-19 การตรวจพบ โอมิครอน (Omicron) ในประเทศไทย
หมอยงระบุว่า ข้อมูลการตรวจหาสายพันธุ์ โอมิครอน ในกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แล้วตรวจพบเชื้อโควิด-19 รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสเชื้อโรคที่ต้องสงสัยในประเทศไทย
จะเห็นว่าอัตราการตรวจพบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมมาจนถึงวันที่ 24 ธันวาคม โดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬา จำนวนที่ตรวจพบ โอมิครอน ในกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และกลุ่มเสี่ยงที่ต้องสงสัยในประเทศไทย เพิ่มขึ้นอย่างมาก
โดยที่ขณะนี้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นสายพันธุ์ โอมิครอน มากกว่าสายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะผู้เดินทางมาจากยุโรป และคลัสเตอร์ที่พบในประเทศไทยหลายคลัสเตอร์ ในกรุงเทพฯ เป็นสายพันธุ์ โอมิครอน
จากการที่พบขึ้นรวดเร็วและมี คลัสเตอร์ขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งบางคลัสเตอร์ ไม่สามารถหาต้นตอ หรือผู้ที่เดินมาจากต่างประเทศได้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าได้มีการระบาดในประเทศบ้างแล้ว
จึงมีความต้องการที่ให้ทุกคน ระวังเคร่งคัดเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการรวมกิจกรรมคนหมู่มาก ถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ก็ยังสามารถที่จะติดเชื้อได้ ยิ่งถ้าอาการไม่รุนแรง ก็จะมีอำนาจในการแพร่กระจายโรคได้มากขึ้น เพราะผู้ติดเชื้อจะไม่ได้ตระหนักและได้รับการตรวจ ก็จะแพร่กระจายไปได้มาก
เราไม่อยากเห็นภาพการระบาด อย่างในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามสถานการณ์การติดเชื้อของไวรัสโอมิครอนในประเทศไทยจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค พบว่า ขณะนี้มียอดผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มเป็น 514 รายแล้ว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของจำนวนผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ และอีก 1 ใน 3 เป็นการสัมผัสกับผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอมิครอน พบว่า ส่วนใหญ่ในภาพรวมแล้วมีอาการไม่มาก เป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่มีอาการของเชื้อลงปอด โดยพบว่า 54% มีอาการไอ รองลงมา 37% มีอาการเจ็บคอ และพบว่ามีไข้เพียง 29%