เปิดขั้นตอนใช้สิทธิ UCEP สิทธิประกันสังคม เมื่อผู้ประกันตนเจ็บป่วยฉุกเฉิน

10 ก.พ. 2565 | 09:20 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2565 | 16:28 น.

เปิดขั้นตอนการใช้สิทธิ UCEP สิทธิประกันสังคม "ผู้ประกันตน" เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทันที เช็คได้ที่นี่

จากกรณีที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 10 ก.พ. 65 ว่า กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอ "ยกเลิกการให้บริการวิกฤตฉุกเฉินกรณีโรค โควิด-19 หรือ ยูเซป (UCEP COVID-19)" ในวันที่ 1 มีนาคม 65 ต่อที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่วันที่ 11 ก.พ.นี้ 

 

ทำให้หลายคนตั้งคำถามและสงสัยว่า "การให้บริการวิกฤตฉุกเฉินกรณีโรค โควิด-19 หรือ ยูเซป (UCEP COVID-19) คือ อะไร มีขั้นตอนการใช้สิทธิ์อย่างไร

 

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลพบว่า UCEP เป็น 1 ใน สิทธิประกันสังคม ผู้ประกันตน เมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ขณะท่องเที่ยวต่างจังหวัด หรือ มีความจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาโดยเร่งด่วน สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทันที 

 

โดยผู้ประกันตนหรือญาติหรือผู้เกี่ยวข้องจะต้องรีบแจ้งให้โรงพยาบาลตามสิทธิฯ ทราบโดยด่วน เพื่อจะได้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่อไป ตามประเภทและอัตราที่ประกาศกำหนด

ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาฉุกเฉิน(UCEP) ได้ ในกรณี

  • หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
  • หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
  • เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
  • ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
  • แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักอย่างต่อเนื่องไม่หยุด
  • มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

ขั้นตอนการใช้สิทธิ UCEP

 

ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ทั้งโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน ได้ทันที 

เข้ารับการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤต และสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใน 72 ชั่วโมง

 

เมื่อพ้นวิกฤต และสามารถเคลื่อนย้ายได้ภายใน 72 ชั่วโมง ติดต่อประสานงานกับโรงพยาบาลตามสิทธิ เพื่อให้ได้รับการรักษาต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

 

อย่าลืมพกบัตรประชาชนติดตัวไว้เพื่อแสดงสิทธิเข้ารับการรักษา

 

เปิดขั้นตอนใช้สิทธิ UCEP สิทธิประกันสังคม เมื่อผู้ประกันตนเจ็บป่วยฉุกเฉิน

 

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลก่อนหน้านี้ พบว่าเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2565 มีรายงานว่า เว็บไซต์ รัฐบาลไทย รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม โดยสาระสำคัญในที่ประชุมมีหัวข้อเรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด 19 ซึ่งในที่ประชุม ครม. ครั้งนี้ มีมติยกเลิกค่าใช้จ่ายในสถานบริการเอกชน (UCEPCOVID) สำหรับการดูแลกรณีโรคโควิด-19  

 

รายละเอียดระบุว่า ทั้งนี้ สาเหตุของการยกเลิก UCEPCOVID และหันไปใช้สิทธิ์ UCEP ทั่วไปได้ เนื่องมาจากสถานการณ์โควิด 19 มีแนวโน้มลดลง อัตราผู้ครองเตียงลดลง คนที่ติดโควิด สามารถใช้สิทธิ์การรักษาตามสิทธิ์ที่ตัวเองมี เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค, ประกันสังคม หรือสิทธิ์ข้าราชการ ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขกำหนดค่าใช้จ่ายที่ได้มีการกำหนดไว้

 

นอกจากนี้ ครม. ยังพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ การสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยผู้ที่มีอาการป่วยน้อย อาจจะให้รักษาในแบบ Home Isolation/Community Isolation ส่วนผู้ป่วยที่มีอาหารหนัก จะให้เริ่มรักษาในสถานบริการของภาครัฐเป็นอันดับแรก หรือกำหนดเงื่อนไขให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล หากต้องการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลทางเลือกที่มีค่าใช้จ่ายสูง อาทิ Hospitel และ โรงพยาบาลเอกชน

 

ส่วนกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่จะใช้สิทธิภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นผู้ไม่ประสงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด อาจจะต้องมีส่วนร่วมในการออกค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลด้วย

อย่างไรก็ตาม เรื่องสิทธิการรักษาโควิดฟรีนั้น ยังไม่มีการประกาศใช้ และตอนนี้อยู่ในช่วงการประกาศหลักเกณฑ์

 

ทั้งนี้ สิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤตและสามารถคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง

 

สำหรับ UCEPCOVID ถูกตั้งขึ้นหลังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สบส.) ประกาศให้โควิด 19 เป็นโรคฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง รวมถึง Hospitel ต้องดูแลผู้ป่วยเหมือนเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาให้ และโรงพยาบาลเอกชน / Hospitel จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายมาที่ สปสช. ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขกำหนดค่าใช้จ่ายที่ได้มีการกำหนดร่วมกันไว้

 

ดังนั้น ถ้ายกเลิกสิทธินี้ ผู้ติดเชื้อโควิดถ้าจะเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชน / Hospitel ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล ซึ่งบิลค่ารักษาโควิดอาจจะสูงถึงหลักแสน รวมถึงผู้ที่ประสงค์ไม่ฉีดวัคซีน ก็ต้องออกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเองด้วยเช่นกัน

 

 

ที่มา