สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน ใน จังหวัดอุบลราชธานี ยังน่าเป็นห่วง ทั้งนี้ ยังพบการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ผลสุ่มตรวจสายพันธุ์จากผู้ป่วย 12 คนของ คลัสเตอร์ร้านเอกมัย 487 พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ได้ประกาศ “สถานที่เสี่ยง” แพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 6 แห่ง ได้แก่
ทั้งนี้ ในวันที่ 3 ม.ค. จังหวัดอุบลราชธานีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 329 คน ยอดป่วยสะสม 24,462 คน เสียชีวิตสะสม 193 คน รักษาตัวอยู่ 1566 คน โดยคลัสเตอร์ร้านเอกมัย พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม 84 คน ยอดสะสม 619 คน ขณะที่การสุ่มตรวจสายพันธุ์ในผู้ป่วยจำนวน 12 คน พบเป็นโอมิครอนทั้งหมด 12 คน
ในวันเดียวกันนั้น นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ลงนามใน คำสั่งจังหวัดอุบลราชธานี ที่ 3/2565 เรื่อง ปิดสถานที่เสี่ยง ต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิด-19 เป็นการชั่วคราว ยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในจังหวัด ทำให้มีการปิดชั่วคราวสถานที่เสี่ยงพร้อมกำหนดบทลงโทษ มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. ถึงวันที่ 17 ม.ค. 2565 (อ่านเพิ่มเติม: โอมิครอน ป่วน !อุบลราชธานี จังหวัดสั่งปิด ร.ร. - ร้านอาหาร(แอร์)- ฟิตเนส 14วัน)
ทั้งนี้ ล่าสุด เพจสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี ยังได้เผยแพร่ประกาศการปรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 กรณีการห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 100 คน เว้นแต่การจัดงานประเพณี การปฏิบัติศาสนกิจหรือศาสนพิธี ได้แก่ งานศพ งานบวช งานมงคลสมรส หรือกิจกรรมอื่น ๆที่มีความจำเป็น โดยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค มีผลตั้งแต่ 4 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ในส่วนของการเอาผิดสถานบริการที่เป็นต้นเหตุการณ์แพร่ระบาดในเขต อ.เมืองอุบลราชธานีนั้น เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา นายนคร ศิริปริญญานันท์ นายอำเภอเมืองอุบลราชธานี ได้มอบหมายให้นายอธิพันธ์ วัฒนวงษ์สิงห์ ปลัดอำเภอเมืองอุบลราชธานี แจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุบลราชธานี กับเจ้าของร้านเอกมัย 487 ให้ถึงที่สุด ในฐานฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดอุบลราชธานี ที่ 54559/2564 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เกี่ยวกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยสถานบริการและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จนเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ประกอบด้วยพยานหลักฐาน ได้แก่
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองอุบลราชธานี ร่วมกับเทศบาลนครอุบลราชธานี สอบสวนผู้ป่วยเพิ่มเติม เพื่อดำเนินคดีกับร้านอื่นที่มีความเชื่อมโยงกับร้านเอกมัย 487 พร้อมกันนี้ จะได้มีหนังสือถึงจังหวัดอุบลราชธานี ขอให้มีการสั่งปิดร้านดังกล่าวชั่วคราว ตามมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้…ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นเร่งด่วนเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีอํานาจในพื้นที่ ความรับผิดชอบของตน สั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบหรือจําหน่ายอาหาร สถานที่ผลิตหรือจําหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดไว้เป็นการชั่วคราว
โดยเบื้องต้นได้มีหนังสือขอความร่วมมือร้านที่เข้าข่ายดังกล่าว หยุดดำเนินกิจการเป็นเวลา 14 วันแล้ว