7 มกราคม 2565 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เด็กพิเศษหมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้ และออทิสติก มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไปเนื่องจากมีความพร่องในการดูแลตนเอง และเมื่อติดเชื้อแล้วมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะอาการรุนแรงเพราะมีโรคทางกายร่วมหลายอย่าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่Omicron ที่ติดง่ายและมีแนวโน้มพบมากในเด็กหากผู้ปกครองสงสัยอาการของเด็กหรือทำการตรวจเชื้อด้วยตนเองแล้วพบผลเป็นบวก(ATK เป็นบวก) สามารถโทรสายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานส่งต่อด่วนในการเข้ารับการดูแลช่องทางพิเศษกับสถาบันราชานุกูล
กรมสุขภาพจิต โดยสถาบันราชานุกูลมีความพร้อม ด้านบุคลากรทางการแพทย์ ออกซิเจน ยาและสถานที่ โดยดูแลเด็กพิเศษแบบพักค้างในโรงพยาบาล 100 เตียง และแบบแยกกักที่บ้าน(Home isolation)
ด้วยรูปแบบการดูแลใกล้เคียงกับบ้านให้มากที่สุดทั้งคนคุ้นเคยและสิ่งแวดล้อมภายใต้ระบบกรองเชื้อระบายอากาศ / เครื่องฆ่าเชื้อยูวีซีประจำห้องเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อและฆ่าเชื้อ และโปรแกรมครอบครัวแห่งสติเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันทางใจ ที่มีการประเมินดูแลและติดตามภาวะสุขภาพจิตของผู้ป่วยควบคู่ไปกับการดูแลด้านร่างกายอย่างสม่ำเสมอผ่านโปรแกรมแพทย์ทางไกลพร้อมให้โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดในระหว่างการรักษา
ด้านแพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่าจากการให้บริการเด็กพิเศษที่ติดโควิด-19 ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมในการประสาน ส่งต่อและให้ความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการในระหว่างที่เด็กพิเศษและครอบครัวพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนาม
รวมทั้งวางแผนการให้ความช่วยเหลือและติดตามภายหลังหายจากอาการป่วยและปลอดเชื้อโควิดเดินทางกลับสู่ชุมชนไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 168 ราย
สถาบันราชานุกูลมีความมั่นใจในคุณภาพบริการเด็กพิเศษติดโควิด-19 และเปิดสายตรง 4 หมายเลขที่ 097-0780696, 084-1078129, 065-8850584 และ 092-4693492 เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ ประเมินอาการและพิจารณาเข้ารับการรักษาต่อไป