สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มอบของขวัญวันเด็ก ปี 2565 เปิดกล่องคลังความรู้ ชู“คู่มือคนไทย Go Cyber ฉบับวัยใส วัยเก๋า” จากหลักสูตรการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต (ETDA Digital Citizen หรือ EDC)
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า จากที่ ETDA และพาร์ทเนอร์ ได้เดินหน้าพัฒนาหลักสูตร ETDA Digital Citizen โดยอิงมาตรฐานจากกรอบ DQ Framework เพื่อให้หลักสูตรดังกล่าวเป็นต้นแบบหลักสูตรและคู่มือในการถ่ายทอดความรู้ อบรม รวมถึงเป็นกรอบแนวทางในการผลิตเนื้อหาต่างๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะ ความรู้ การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และรู้เท่าทันภัยออนไลน์แก่กลุ่มเป้าหมาย
โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เยาวชนและผู้สูงอายุ สู่การเตรียมพร้อมให้คนไทยในการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ซึ่งหลักสูตร ETDA Digital Citizen ได้ถูกพัฒนาเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยประกอบไปด้วย หลักสูตร คู่มือและสื่อการเรียนรู้ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำร่องใช้ถ่ายทอดความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
พบว่าเยาวชนและผู้สูงอายุที่ผ่านการอบรมภายใต้หลักสูตรนี้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น และเพื่อขยายฐานให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้ามาเรียนรู้ทักษะการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ผ่านหลักสูตรนี้มากยิ่งขึ้น
จากการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย ปี 2564 หรือ Thailand Internet User Behavior 2021 ของ ETDA เราพบว่า กลุ่ม Gen Z (อายุน้อยกว่า 21 ปี) ทุบสถิติใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุด เฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมง 5 นาที ชนะกลุ่ม Gen Y (อายุ 21-40 ปี) อดีตแชมป์ 6 สมัยที่ใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุด โดยกลุ่ม Gen Z ใช้อินเทอร์เน็ตไปกับการเรียนออนไลน์ ดูรายการโทรทัศน์ ดูคลิป ดูหนัง ฟังเพลงออนไลน์และติดต่อสื่อสารออนไลน์
ดังนั้น เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ปี 2565 ETDA ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งยกระดับชีวิตคนไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จึงได้นำ“คู่มือคนไทย Go Cyber ฉบับวัยใส วัยเก๋า” ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อเรียนเรียนรู้ของหลักสูตร ETDA Digital Citizen มาเปิดให้น้อง ๆ เยาวชน รวมถึงคนไทยที่สนใจได้ดาวน์โหลดไปศึกษาและอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ท่องโลกไซเบอร์ได้อย่างสร้างสรรค์ สู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ
“คู่มือคนไทย Go Cyber ฉบับวัยใส วัยเก๋า” มีเนื้อหารายละเอียดพัฒนามากจากกรอบ DQ Framework ที่มีความเหมาะสมกับพฤติกรรมและบริบทของคนไทย ประกอบด้วย
1.ด้านอัตลักษณ์ดิจิทัล (Digital Identity) ที่ทำให้เห็นถึงความสำคัญและการจัดการด้านข้อมูลส่วนบุคคลในโลกออนไลน์ รวมทั้งด้านสิทธิของเจ้าของผลงาน
2.ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม (Digital Use) ทั้งในเรื่องของเวลา ผลกระทบต่อสุขภาพ อารมณ์และจิตใจที่อาจจะเกิดขึ้น
3.ด้านการจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล (Digital Security) เพื่อรู้จักภัยคุกคามออนไลน์ พฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม และเครื่องมือในการป้องกันหรือวิธีการรับมือ
4.ด้านการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) เช่น การค้นหา การวิเคราะห์ประเมินเนื้อหาในโลกออนไลน์ รวมถึงการผลิตเนื้อหาอย่างสร้างสรรค์และ
5.ด้านการสื่อสารดิจิทัล (Digital Communication) เพื่อสร้างความร่วมมือในโลกดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้งานในรูปแบบต่างๆ