รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า
หลักหมื่นกันต่อเป็นวันที่สาม เท่าที่สอบถามเครือข่ายสมาชิกสมาคมอุรเวชช์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งในกทม. ชลบุรี อุบลราชธานี เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และขอนแก่น โอมิครอน (Omicron) เป็นสายพันธุ์หลักไปแล้ว แต่ยังไม่มีผู้ป่วยปอดอักเสบโควิดรุนแรง/วิกฤตเพิ่มขึ้นชัดเจน แต่ได้แจ้งทุกที่ให้ตั้งมั่นในพื้นที่อย่าได้ประมาท
ใครเข้าไปดูสถิติรายวันในเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค (คร.) ทุกวันคงงงงวยกับยอดตัวเลข ยิ่งวันที่ 7 ม.ค. 65 น่าจะทำให้ตาแตก ยอดผู้ป่วยใหม่ในประเทศที่ปรากฏอยู่สามหน้าของเว็บไซต์ไม่ตรงกัน ที่น่าเจ็บปวดคือยอดผู้ป่วยที่ตรวจ ATK เป็นบวก ซึ่งในการวินิจฉัยของแพทย์กว่า 95% เป็นโควิด-19 แน่นอน แต่กลุ่มนี้ไม่ถูกนับรวมเข้าไปในสถิติประเทศ ยอด 2.26 ล้าน อาจจะต่ำกว่าของจริงไปน่าจะไม่น้อยกว่า 10% นับแต่เราเริ่มตรวจ ATK กันแพร่หลายเมื่อระลอกสามต่อสี่เป็นต้นมา
การรายงานโรคต่ำกว่าความเป็นจริงถือเป็นอวิชชาหรือเส้นทางของผู้ไม่ใช้ปัญญานำทาง ดูเหมือนบ้านเราจะถนัดไม่ว่าจะเป็นหวัดหมู หวัดนก ที่เป็นปัญหาทราบกันดีในแวดวงเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ อยู่ในขณะนี้ นี่การซุกใต้พรมลามมาถึงการรายงานยอดหวัดคน (โควิด) ด้วยแล้ว เมื่อสถิติต่ำกว่าที่ควรเป็น การวางแนวทางแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาวก็จะไม่สมบูรณ์
ด้านประชาชนเองก็จะไม่ตระหนักในความรุนแรงของปัญหา ความร่วมมือในการควบคุมโรคอย่างเต็มที่ก็จะถูกละเลยตามมาได้ เชื่อว่าข้าราชการประจำที่รับผิดชอบคงถูกปิดปากโดยข้าราชการการเมือง (นักการเมือง) ฉ้อฉลที่บัญชาการอยู่
ตลอดชีวิตการรับราชการที่กำลังจะครบ 38 ปี ในหัวทุกวันคิดแต่ว่าจะทำประโยชน์อะไรให้กับราษฎรได้บ้าง เพื่อให้สมกับฐานะที่เป็นข้าในกิจการของราชาซึ่งทำเพื่อราษฎร ปัจจุบันพลเมืองของสังคมมีสำนึกทางการเมืองสูงขึ้น ข้าราชการจึงต้องทำงานเพื่อราษฎรโดยตรง ให้เป็นการแบ่งเบาภาระของราชาที่มีงานอยู่เต็มมือ
ความสุจริตและวิชชาจะเป็นเครื่องปกป้องเราจากอิทธิพลของนักการเมืองที่มาไม่นานก็ไป เหลือแต่ความบอบช้ำของประเทศถ้าเป็นนักการเมืองต้นทุนต่ำ (ต้นทุนการถูกเลือกให้เข้ามาสูง แต่ต้นทุนในการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมต่ำ) หากเราทำตามน้ำไม่ยืนหยัดบนความถูกต้อง ราษฎรและราชาคงแสนเสียดายผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นข้าเขา
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 9 มกราคม 2565 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 8,511 ราย
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,240,687 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 12 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,605 ราย กำลังรักษา 53,858 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,166,441 ราย