กรมชลเปิดเสนอผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำคลองขลุงแก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม

11 ม.ค. 2565 | 11:44 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2565 | 18:44 น.

กรมชลเปิดเสนอผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำคลองขลุงแก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม ดึงภาคประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเวทีระดมความคิดเห็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.กำแพงเพชร

นายสุรชาติ  มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้ดำเนินโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำคลองขลุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร เพื่อนำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ

 

 

สรุปผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญและมาตรการป้องกัน แก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

 

ทั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ผู้ได้รับประโยชน์ ผู้นำชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสื่อมวลชนร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

 

 

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองขลุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นหนึ่งในโครงการตามแผนที่พระราชทาน เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกให้กับราษฎรในเขตพื้นที่จัดสรรของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและพื้นที่ข้างเคียง โดยเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทอ่างเก็บน้ำขนาดกลางความจุเก็บกักประมาณ 15.56 ล้านลูกบาศก์เมตร

มีหัวงานเป็นเขื่อนดิน ปิดกั้นคลองขลุง ตั้งอยู่ที่บ้านแปลงสี่-แม่พืช หมู่ 8 ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร สามารถส่งน้ำช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 33,109 ไร่ ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน 28,444 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ครอบคลุม 12 หมู่บ้านในพื้นที่ ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน และ ต.ปางตาไว อ.ปางศิลาทอง

 

 

“การก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองขลุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี หากแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งเก็บกักน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ประชาชนจะมีน้ำต้นทุนในการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง ส่งผลให้มีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ช่วยลดความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่"

 

สุรชาติ  มาลาศรี

 

 

นอกจากนี้ จะมีแหล่งเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์สัตว์น้ำจืด และส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ สร้างงานสร้างรายได้สู่ท้องถิ่นและจังหวัด ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น 

 

 

อย่างไรก็ตามการพัฒนาโครงการดังกล่าวได้กำหนดแผนปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) ที่วางไว้ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการปีที่ 1 และต่อเนื่องจนถึงปีที่ 10 รวมทั้งหมด 24 แผนงบประมาณ 94.49 ล้านบาท โดยกรมชลประทานจัดสรรงบประมาณสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการไว้แล้ว 

โดยผลกระทบหลักเนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างหัวงานและอาคารประกอบ อ่างเก็บน้ำ ถนนทดแทนครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,864 ไร่ ทั้งหมดอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติคลองขลุง-ป่าคลองแม่วงศ์ และป่าคลองสวนหมาก-ป่าคลองขลุง ในส่วนของป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (โซน C) แต่ปัจจุบันราษฎรได้เข้าไปใช้ประโยชน์ เพื่อทำการเกษตรเกือบทั้งหมดแล้ว 

 

 

อย่างไรก็ตามกรมชลประทานได้จัดให้มีแผนฟื้นฟูการปลูกป่า ทดแทน รวมทั้งการพัฒนาแหล่งอาหารสัตว์ป่า และบ่อน้ำ ดินโปร่งเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารสัตว์ในส่วนของผลกระทบกับถนนทางเข้าชุมชนหมู่ 8 บ้านแปลงสี่-แม่พืช ที่เชื่อมกับทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1117 ถูกน้ำท่วมทำให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรไป-มา ภายในชุมชนและพื้นที่เกษตร ปัจจุบันได้ก่อสร้างถนนทดแทนถนนที่ถูกน้ำท่วม คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 36 ไร่ หรือเป็นระยะทาง 2.13 กิโลเมตร

 

 

นายสุรชาติ  กล่าวต่อไปอีกว่า มีการวางระบบการขนส่งวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างอาจเกิดฝุ่นละออง ขณะเดียวกันยังกระทบต่อที่ดินทำกินและทรัพย์สินของราษฎรที่จะต้องถูกเวนคืนและจ่ายชดเชย จำนวน 159 ราย ที่ดินจำนวน 234 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 1,687.83 ไร่ ได้มีมาตรการในการลดปัญหาฝุ่นละอองโดยการนำรถน้ำเพื่อฉีดพรมถนน เพื่อป้องกันฝุ่นที่อาจเกิดขึ้นในชุมชนปัญหาน้ำในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร ช่วงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงประมาณเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นช่วงฤดูฝน 

 

อ่างเก็บน้ำคลองขลุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม

 

 

เริ่มตั้งแต่บริเวณภาคเหนือและภาคกลางมีฝนตกชุกและตกหนักก่อให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ ประกอบกับในปัจจุบันมีการบุกรุกป่าต้นน้ำลำธาร สภาพแม่น้ำลำคลองตื้นเขิน อุทกภัยจึงเกิดขึ้นฉับพลันและมีความรุนแรงสร้างผลกระทบให้กับพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำยมของ จ.พิจิตร ประกอบกับระดับและปริมาณน้ำในแม่น้ำยมสูงและมีมากจะยิ่งทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น เพราะน้ำ จ.กำแพงเพชร ไหลระบายลงแม่น้ำยมไม่ได้ 

 

 

จากสถานการณ์ดังกล่าวกรมชลประทาน ได้จัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและบรรเทาอุทกภัย จ.กำแพงเพชร เพื่อให้มีการจัดทำแผนรวม ก่อให้เกิดการศึกษาอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำ สามารถหาแนวทางในการบรรเทาแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้คัดเลือกโครงการอ่างเก็บน้ำคลองขลุงเป็นโครงการที่มีความเหมาะสมในลำดับต้นๆ มาดำเนินการ