นางนนก์ภสร นเรธรณ์ ผู้จัดการโรงงาน บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินโครงการโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม เผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.)การคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ขนาด 500 ตันต่อวัน และศูนย์เรียนรู้การกำจัดมูลฝอยครบวงจรของโรงงาน โดยมีนางนนก์ภสร นเรธรณ์ ผู้จัดการโรงงาน และนายกฤษณะ พฤกษะวัน ที่ปรึกษาอาวุโส ให้การต้อนรับ
หลังเยี่ยมชมกระบวนการทำงานแล้วเสร็จ คณะกรรมาธิการฯ ได้ชื่นชมมาตรฐานการทำงานของโรงงาน ทั้งในด้านการกำจัดมูลฝอย การดูแลชุมชนโดยรอบและการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐาน มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มีระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ ( CEMS) ที่รายงานผลออนไลน์อย่างต่อเนื่องไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม และแสดงผลด้านหน้าโรงงานเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ และประชาชน สามารถติดตามการายงานมลสารจากปล่องได้เสมอ
ตลอดจนมีระบบการทำงานแบบ 4 ประสานซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน และโรงงานที่เข้มแข็ง ซึ่งหากกรุงเทพมหานคร มีโรงงานในลักษณะนี้เพิ่มขึ้น คาดว่าจะสามารถลดปัญหาผลกระทบจากการจัดการขยะทั้งด้านกลิ่น เสียง และมลภาวะต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานที่เกิดขึ้นของศูนย์กำจัดขยะได้อย่างแน่นอน เนื่องจากขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครจะถูกกำจัดในระบบปิดและมีระบบบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถตรวจสอบได้ มีการรายงานผลชัดเจน ช่วยลดการขนส่งมูลฝอยไปยังต่างพื้นที่ นอกจากนี้ ยังเป็นวิธีการที่ได้มาตรฐาน และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สามารถลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้จริง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นายเหอ หนิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินโครงการโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมหนองแขมขนาด 500 ตันต่อวัน เปิดเผยว่า นอกจากโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมหนองแขมขนาด 500 ตันต่อวันแล้ว ขณะนี้ บริษัทฯและบริษัทในเครือ มีแผนจะพัฒนาโครงการกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าอีก 2 แห่ง ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และอ่อนนุช ขนาด 1,000 ตันต่อวัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอ การประกาศสิทธิการรับซื้อไฟฟ้าจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หากสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 ตามแผนที่วางไว้ จะสามารถช่วยกำจัดขยะให้กรุงเทพมหานครได้รวมถึง 2,500 ตันต่อวัน