ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (1 ก.พ.65) นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้รายงานให้ที่ประชุม ครม.ทราบถึงความคืบหน้าการให้สิทธิผู้ป่วยโรคไตที่ใช้สิทธิบัตรทองสามารถเลือกฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมฟรีในทุกกรณี โดยจะเริ่มการให้สิทธิตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 นี้เป็นต้นไป
การดำเนินการดังกล่าวเพื่อเป็นการเพื่อลดภาระประชาชน เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยไตในระบบบัตรทองอยู่ 63,694 คน ทั่วประเทศ ซึ่งเดิมตามขั้นตอนการรักษาจะเริ่มการรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง และจะเข้ารับการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม เมื่อผู้ป่วยมีสภาพร่างกายและมีเงื่อนไขเป็นไปตามที่กําหนด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีผู้ป่วยจํานวนกว่า 6,500 คนที่ไม่เข้าเงื่อนไขแต่ต้องการใช้วิธีล้างไตด้วยการฟอกเลือด ต้องชําระค่าใช้จ่ายเองครั้งละ 1,500 บาท ซึ่งนับเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ถึงขั้นสุ่มเสี่ยงต่อภาวะล้มละลายจากการรักษาพยาบาล
ดังนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข จึงเข้ามาแก้ปัญหาด้วยนโยบายล้างไตรฟรีทุกกรณี ทั้งวิธีล้างไตทางช่องท้อง และฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
นางสาวไตรศุลี กล่าวเพิ่มเติมว่า รองนายกรัฐมนตรีได้รายงานต่อ ครม.ว่า การดำเนินการเลือกวิธีรักษาจะพิจารณาโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาลเครือข่ายกระทรวงสาธารณสุข ที่มีความพร้อมจํานวนกว่า 663 แห่งทั่วประเทศ
เป็นการเดินหน้านโยบายที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและตัดสินร่วมกับแพทย์ประเมินเลือกการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วยไตแต่ละราย ขยายทางเลือกด้านการบริการให้ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากที่สุด
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผน สนับสนุน มาตรการป้องกันและชะลอความเสื่อมไตให้เข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายให้น้อยที่สุด พร้อมกับบูรณาการทุกหน่วยงาน สนับสนุนนโยบาย ยกระดับงานดูแลประชาชน ทั้งได้เพิ่มจํานวนหน่วยบริการฟอกเลือดและการเพิ่มบุคลากรที่เกี่ยวข้องในระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับจํานวนผู้ป่วยในอนาคต คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยไต
"การให้สิทธิผู้ป่วยโรคไตที่ใช้สิทธิบัตรทองสามารถเลือกฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมฟรีในทุกกรณีนี้ นับเป็นมิติใหม่การให้บริการแก่ประชาชนของรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งมั่น ที่จะช่วยเหลือในการลดภาระค่าใช้จ่าย และยกระดับระบบสาธารณสุข เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ยํ้าจุดเด่นของประเทศไทย ที่เป็นประเทศซึ่งมีระบบสาธารณสุขดีเยี่ยมเป็นที่ยอมรับในระดับโลก" นางสาวไตรศุลี กล่าว
ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่า ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต (ฟอกไต) ดังนี้
1.กลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ เริ่มตั้งแต่ 1 ก.พ.2565
หลังจากที่แพทย์วินิจฉัยว่า ต้องเข้ารับบริการบำบัดทดแทนไต แพทย์และผู้ป่วยจะตัดสินใจร่วมกันเพื่อเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสม
ไม่บังคับให้ใช้วิธีล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรกแต่สามารถเลือกการบำบัดทดแทนไต (ฟอกไต) แทนได้
สำหรับผู้ป่วยสมัครใจล้างไตผ่านช่องท้อง สามารถรับบริการตามกระบวนการต่อไป โดยล้างไตที่บ้านเป็นประจำทุกวัน
ส่วนผู้ป่วยที่สมัครใจฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม สามารถรับบริการตามกระบวนการต่อไป ดังนี้
2.กลุ่มผู้ป่วยรายเดิม ก่อนวันที่ 1 ก.พ.2565
ผู้ป่วยไตที่ล้างไตผ่านช่องท้อง ต้องการเปลี่ยนมาใช้วิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษาก่อน
กรณีแพทย์ อนุมัติ / แนะนำ ให้สามารถทำได้ สามารถเข้ารับบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่เกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์
กรณีหน่วยบริการที่ผู้ป่วยใช้ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. สามารถโทรติดต่อได้ที่ สายด่วน 1330 เพื่อตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการฯ ที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช.ที่ท่านสามารถใช้บริการได้