"จิสด้า"เผยข้อมูลจากดาวเทียม ไทยพบจุดความร้อนเพิ่ม พื้นที่เกษตรมากที่สุด

09 ก.พ. 2565 | 05:51 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2565 | 13:00 น.

"จิสด้า"เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี พบจุดความร้อนทั้งประเทศ จำนวน 689 จุด เพิ่มขึ้น 355 จุด พบมากที่สุดในพื้นที่เกษตร 207 จุด

9 ก.พ.65 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 พบจุดความร้อนทั้งประเทศ จำนวน 689 จุด เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 355 จุด พบมากที่สุดในพื้นที่เกษตร 207 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 179 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 125 จุด พื้นที่เขตสปก. 103 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 66 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 9 จุด

 

\"จิสด้า\"เผยข้อมูลจากดาวเทียม ไทยพบจุดความร้อนเพิ่ม พื้นที่เกษตรมากที่สุด

ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากสุด คือ กาญจนบุรี 58 จุด ลำปาง 47 จุด ชัยภูมิ 37 จุด ตามลำดับ จากภาพแสดงให้เห็นว่าจุดความร้อนกลับมากระจายตัวเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ภาคเหนือลงมาถึงภาคกลาง โดยมีภาคตะวันออกเฉียงเหนือนำอยู่ที่ 253 จุด ผสมกับจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน

 

ทำให้เช้าวันนี้ เวลา 9.00 น. พื้นที่ภาคกลางนำโดยจังหวัดสมุทรปราการและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคุณภาพอากาศปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อยู่ในระดับปานกลาง ทำให้อาจเริ่มส่งผลกระทบกับระบบทางเดินหายใจ

.

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลจุดความร้อนตั้งแต่ 1 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจุดความร้อนแล้ว 4,561 จุด ตามด้วยภาคเหนือ 4,204 จุด และภาคกลาง 3,279 จุด ตามลำดับ

 

สำหรับจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้าน ราชอาณาจักรกัมพูชาครองอันดับหนึ่งต่อเนื่อง 6 วันติด จำนวน 1,416 จุด รองลงมาอันดับ 2 เป็นสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ จำนวน 1,259 จุด และอันดับที่ 3 เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 717 จุด ตามลำดับ ข้อมูลจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ pm 2.5 ในพื้นที่บริเวณแนวชายแดนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมไปถึงภาคกลาง เนื่องจากมีลมพัดฝุ่นละอองและหมอกควันเข้ามา ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ดูแลสุขภาพด้วย

 

ทั้งนี้ ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THOES-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือ การสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ สามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://fire.gistda.or.th

 

ที่มา : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)