ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. จัดทำระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation : HI) ในการจับคู่หน่วยบริการดูแลและขณะนี้ยังคงให้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อประชาชนตรวจ ATK ด้วยตนเองและมีผลติดเชื้อโควิด-19 สามารถลงทะเบียนระบบ HI ดังนี้
กทม. : โทร.เบอร์สายด่วนของแต่ละเขต (เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์หรือเฟสบุ๊ก กรุงเทพมหานคร: https://bit.ly/3FBOgvw ) หรือ โทรสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 กด 2 หรือเพิ่มเพื่อนทาง Line @BKKCOVID19CONNECT
ต่างจังหวัด : โทร. Call Center ของจังหวัดหรืออำเภอ (เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์หรือเฟสบุ๊กสำนักงานสาธารณสุขของแต่ละจังหวัด)
ทั้ง กทม. และ ต่างจังหวัด หากไม่ทราบหรือไม่สะดวกโทร.ตามรายละเอียดข้างต้น
1.โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 หรือ
2.ลงทะเบียนด้วยตนเองที่ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHIหรือ
3. ไลน์ สปสช. โดยเพิ่มเพื่อน พิมพ์ @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6•
- เลือกเมนูบริการเกี่ยวกับโควิด-19
- เลือกลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation)
ซึ่งหลังจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 โทรแจ้งตามระบบแล้ว จะมีเจ้าหน้าหน้าที่โทรกลับเพื่อประเมินอาการภายใน 6 ชั่วโมง หากภายใน 6 ชั่วโมงยังไม่มีการติดต่อกลับ ให้โทร.แจ้งที่ สายด่วน สปสช. 1330 อีกครั้ง ทั้งนี้หากสภาพบ้านไม่พร้อม จะเข้าสู่การรักษาในระบบชุมชน (Community Isolation) แต่ถ้าหากอาการรุนแรงขึ้น คนไข้จะถูกส่งต่อเข้าโรงพยาบาลตามความเร่งด่วนของคนไข้แต่ละราย
ส่วนกรณีการขอใบรับรองแพทย์ช่วงรักษาตัวในระบบ HI นั้น ให้ประสานกับหน่วยบริการที่ดูแลซึ่งจะออกใบรับรองแพทย์ให้ตามการให้บริการจริง
“กรณีโทรสายด่วน 1330 ไม่ติด เนื่องจากมีประชาชน โทร.เข้ามามาก ไม่ต้องกังวล สปสช.จัดเจ้าหน้าที่โทรกลับสายที่โทรไม่ติดเพื่อรับข้อมูลเข้าระบบ หรือใช้ช่องทางลงทะเบียนด้วยตนเองตาม link ข้างต้น หรือผ่านช่องทางไลน์ สปสช. พิมพ์ @nhso” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีข้อมูลจากทีมเครือข่ายจิตอาสาที่มาร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แจ้งว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งเกิดเข้าใจผิดว่า เมื่อลงทะเบียน HI แล้วจะเสียสิทธิการจองเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาล ขอชี้แจงว่าระบบ HI เป็นการติดตามและดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว เพื่อแยกผู้ป่วยสีเหลืองและแดงเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ช่วยลดความแออัดและให้มีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยอาการหนักและจำเป็น ซึ่งในระหว่างการดูแลในระบบ HI หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงก็จะมีการส่งต่อผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล ไม่ได้เสียสิทธิการเข้ารักษาในโรงพยาบาลแต่อย่างใด