ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความว่า
โควิด-19 (Covid-19) สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 มีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นในประเทศไทย
จากการศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ ในการติดตามสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่พบในเขตกรุงเทพมหานคร
จะเห็นว่าสายพันธุ์ที่พบทั้งหมด เป็นสายพันธุ์ โอมิครอน ส่วนใหญ่ที่พบยังเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1
ในเดือนกุมภาพันธ์นี้มีแนวโน้มที่พบ สายพันธุ์ BA.2 เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด
สายพันธุ์ BA.2 ไม่ได้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
แต่จะติดต่อง่ายขึ้นกว่าสายพันธุ์ BA.1 และจะเป็นเหตุ ให้การแพร่กระจายของโรคได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมานพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ กล่าวว่า ข้อมูลการสุ่มตรวจสายพันธุ์ เฉพาะวันที่ 5-11 กุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 1,975 ตัวอย่าง ในผู้เดินทางเข้าประเทศ 638 ตัวอย่าง
พบเป็น B.1.1 จำนวน 596 ตัวอย่าง BA.1 จำนวน 34 ตัวอย่าง และ BA.2 จำนวน 8 ตัวอย่าง สำหรับการตรวจในประเทศ 1,337 ตัวอย่าง พบเป็น B.1.1 จำนวน 812 ตัวอย่าง BA.1 จำนวน 428 ตัวอย่าง และ BA.2 จำนวน 97 ตัวอย่าง
“ฉะนั้นไทยเจอโอมิครอน BA.2 ภาพรวมในประเทศคิดเป็น 18.5% ส่วน BA.1 81.5% อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่า การตรวจมีความจำกัดในบางศูนย์ตรวจ ซึ่งกำลังจะทำให้มีความครอบคลุม เพื่อให้เห็นภาพจริงของประเทศ”
ส่วนการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวจาก 500 กว่าตัวอย่าง ที่เป็นคนละช่วงเวลา และกว่าผลจะออกมา ดังนั้น ข้อมูลที่ได้จะช้ากว่าการตรวจหาสายพันธุ์เบื้องต้น 2,000 กว่าตัวอย่าง
ถ้าเป็นตามนี้คือ การถอดทั้งตัวเจอ BA.2 จะอยู่ที่ 2% กว่าๆ เท่านั้น แต่เมื่อข้อมูลล่าสุดที่ตรวจเบื้องต้นพบถึง 18.5%
แสดงให้เห็นว่า แนวโน้ม BA.2 เริ่มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีการรายงานในสัปดาห์ต่อๆ ไป