2 มีนาคม 2565 - ยังคงเป็นคดีที่สังคมไทยให้ความสำคัญอย่างมาก กับ ปริศนาการเสียชีวิตของ แตงโม - นิดา หรือ นิดา พัชรวีระพงษ์ ดาราสาว หลังพลัดตกเรือสปีดโบ๊ทกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ตามคำให้การของเพื่อนทั้ง 5 คน บนเรือ ได้แก่ กระติก - จ๊อบ - แซน -ไฮโซปอ และ เบริ์ด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ขณะวานนี้ ปรากฎ ภาพศพแตงโม ขณะถูกกู้ร่างขึ้นมาจากน้ำ แชร์ว่อนทั้งในทวิตเตอร์และ IG ทำให้ญาติของดาราสาวผู้ล่วงลับ และเพื่อนสนิท คนรู้จักในวงการบันเทิง ต้องออกมาอ้อนวอน ขอให้หยุดแชร์ภาพดังกล่าว เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และอยากให้คนไทยจำจดภาพที่สวยงามของแตงโม
ทั้งนี้ ล่าสุด ผศ.ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล ประธานหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรม (นานาชาติ) คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล เผยแพร่บทความ ถึงการแชร์ภาพศพ ว่ามีความผิดทางกฎหมาย
และถือเป็นการไม่ให้เกียรติผู้เสียชีวิต ไว้อย่างน่าสนใจ โดยควรจะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานทางสังคม ทั้งกับกรณีคนทั่วไป และ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วย
การแชร์ภาพศพ ผิดกฎหมายหรือไม่?
ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 366/4 ระบุว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศพ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ” ดังนั้น การกระทำใด ๆ ที่เข้าลักษณะหรือองค์ประกอบการดูหมิ่นศพ ต้องถือว่ามีความผิดทางอาญาที่จะต้องรับโทษ แม้ว่าศาลฎีกาให้ความหมายของคำว่า “ดูหมิ่น” หมายถึง การด่า ดูถูกเหยียดหยาม หรือสบประมาทให้อับอาย ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4327/2540 หรือแนววินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 758/2498 การดูหมิ่นเหยียดหยามศพ เมื่อไม่มีองค์ประกอบคำว่า “ซึ่งหน้า”เหมือนเช่นมาตรา 393 ก็ตาม
การดูหมิ่นเหยียดหยามศพลับหลังก็เป็นความผิดได้หรือถ่ายรูปศพประจานออกสื่อสาธารณะ หรือแชร์ภาพศพแล้วเขียนข้อความดูหมิ่น ก็อาจผิดฐานนี้ได้ การกระทำใด ๆ ยังรวมถึงการกระทำทางกายภาพอื่น ๆ เช่น เจตนาวางศพในลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยาม ก็น่าจะเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศพเช่นกัน ฯลฯ
แม้ว่า ในความเป็นจริงยังไม่มีคำพิพากษาของศาลวินิจฉัยออกมาชัดเจนว่า การแชร์ภาพศพ ผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะแม้การแชร์ภาพจะเป็นการกระทำ แต่จะเข้าข่ายดูหมิ่นศพหรือไม่ก็ตามนั้นยังไม่มีแนวคำวินิจฉัยศาลออกมาเป็นบรรทัดฐาน แต่ก็สุ่มเสี่ยงในการแชร์หรือโพสต์ และหากมีการฟ้องร้องและศาลมีคำพิพากษาออกมาว่าการแชร์ภาพศพ เข้าข่ายดูหมิ่นแล้ว ก็ต้องรับโทษตามกฎหมาย
ญาติผู้ตายสามารถฟ้องร้องได้หรือไม่/ผิดข้อกฎหมายข้อใด?
ทั้งนี้ญาติผู้ตายสามารถฟ้องร้องได้ โดยอาศัย มาตรา 366/4 ตามประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว หากการแชร์ออกไปมีลักษณะเข้าข่ายการดูหมิ่นศพ ก็มีความผิดและต้องรับโทษ
การเผยแพร่ภาพศพถือเป็นสภาพที่ไม่น่าดูของผู้ตาย การแชร์ภาพศพ หรือโพสต์ภาพศพ ถือเป็นการดูหมิ่นผู้ตายหรือไม่?
ต้องเรียนตามตรงว่า ยังไม่ได้มีคำพิพากษาของศาลวินิจฉัยออกมาชัดเจนหรือวางบรรทัดฐาน อาจต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไปว่า การแชร์นั้นมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายมีเจตนาในการดูหมิ่น ดูถูกเหยียดหยาม หรือสบประมาทให้อับอายหรือไม่ หากเข้าเงื่อนไขในองค์ประกอบก็ถือเป็นการดูหมิ่น
สื่อสารมวลชนควรนำเสนอข่าว การรายงานภาพศพ ผู้เสียชีวิตอย่างไรเพื่อไม่ผิดจริยธรรมสื่อ
อันที่จริงเราไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า สื่อควรแสดงภาพผู้เสียชีวิตหรือไม่ในฐานะคนที่ค้นคว้าและนำเสนอข้อเท็จจริง แต่เป็นคำตอบในด้านจริยธรรมต่อการรายงานภาพศพ ผู้เสียชีวิต ภาพถ่ายความทุกข์ทรมาน อาจพิจารณาไม่เผยแพร่ หรือต้องเซ็นเซอร์ภาพ เช่น เห็นใบหน้า เลือด การเห็นอวัยวะฉีกขาด ภาพสยดสยองต่าง ๆ ก่อนเผยแพร่ เพื่อลดความน่ากลัว การสร้างความสะเทือนใจสำหรับผู้รับสาร ญาติผู้ตาย และยังเป็นการเคารพผู้ตายอีกด้วย
กรณีสื่อสารมวลชนถ่ายทอดสด (Live) หรือรายงานสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เห็นศพลงในโซเชียลมีเดีย ควรต้องระมัดระวังในเรื่องการนำเสนอภาพศพเป็นพิเศษ หากเลือกที่จะเขียน รายงานข่าว ให้เขียนสั้น ๆ เลือกถ้อยคำอย่างระมัดระวังและนึกถึงสมาชิกในครอบครัวของเขาและเพื่อน ๆ ที่กำลังเจ็บปวดอยู่ในขณะนี้ ที่สำคัญที่สุด อย่าเปิดเผยรายละเอียดที่ไม่ได้รับการยืนยันเกี่ยวกับการเสียชีวิต
อย่าลืมว่ามีโซเชียลมีเดียรอรับลูกต่อที่สามารถกลายเป็นสภาพแวดล้อมสำหรับข่าวลือหรือข้อมูลเท็จได้อย่างง่ายดาย และจะเพิ่มประสบการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้นสำหรับครอบครัวผู้เศร้าโศก นั่นเท่ากับเป็นการนำเสนอที่ซ้ำเติมอารมณ์ของความสูญเสียและความเสียใจ ความเจ็บปวดที่เพิ่มขึ้น
แม้จะไม่มีคู่มือสำหรับการนำเสนอการรายงานภาพศพ แต่องค์กรข่าวต้องมีความรับผิดชอบที่จะปกป้องและลดหรือขีดวงการรับรู้ดังเช่น จริยธรรมสื่อของประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่เผยแพร่ศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สินาสิเมื่อปี 2011 ที่ไม่ค่อยปรากฏภาพผู้เสียชีวิตผ่านสื่อ ถึงแม้จะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1.5 หมื่นรายก็ตาม
อย่าลืมว่าการเลี่ยงหรือปฏิเสธที่จะเผยแพร่ภาพคนที่เสียชีวิต ศพในรูปแบบต่าง ๆ ที่สะเทือนขวัญ สร้างความหดหู่ในการรับรู้ เป็นการแสดงความเคารพ เป็นการให้เกียรติความเป็นส่วนตัวของครอบครัวของพวกเขา
สิ่งที่สังคมควรตระหนัก เมื่อมีการแชร์ภาพ วิดีโอ ข้อมูล ของข่าวอาชญากรรมโดยทันที
ต้องยอมรับว่าสังคมปัจจุบัน ผู้คนหันมาใช้โซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็วเพื่อพูดคุยในเรื่องราวต่าง ๆ อย่างเสรีโดยขาดความคิดพิจารณาอย่างละเอียด โดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับความตาย น้อยคนที่จะนึกถึงผลที่ตามมา ลืมนึกถึงห้วงเวลาที่ครอบครัว คนรัก ญาติต้องสูญเสีย ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาประสบกับความเสียใจมากพอแล้ว เราควรจะเคารพให้เกียรติ การโพสต์ที่แชร์ภาพ วิดีโอ ข้อมูล ของข่าวอาชญากรรม โดยทันทีโดยไม่ปกป้องสิทธิผู้ตายยิ่งเป็นการซ้ำเติมการสูญเสีย ความเสียใจ ความเศร้าโศก ความเจ็บปวด ต้อง(ลอง)แทนใจว่า ถ้าหากเหตุการณ์นั้นเกิดกับคนที่แชร์ในลักษณะเดียวกันบ้าง จะเจ็บปวดจากการไม่เคารพ ไม่ให้เกียรติ และการด้อยค่ามากน้อยเพียงใด
การแชร์ภาพคนตายไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรแก่สังคมเลย แม้หลายครั้งที่คนแชร์จะหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองว่าต้องการให้ญาติเขารับรู้ หรือหวังดีกับผู้เสียชีวิต แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องอวดให้ใครรู้ว่าเราเข้าถึงข้อมูลเร็ว หรือกลัวว่าจะคุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง หรือรายงานความจริงที่จะอาจกลายเป็นทำลายล้าง การสูญเสียคนที่คุณรักเป็นช่วงเวลาแห่งอารมณ์สำหรับครอบครัวและเพื่อนสนิท และอาจ(ไม่ใช่หน้าที่)จะนำความคิดของคุณมาเป็นคำพูด
อย่าลืมว่าคนที่กำลังสูญเสีย เราควรหยิบยื่นความเห็นอกเห็นใจ ให้เวลาพวกเขาได้ใช้เวลากับตัวเอง สำหรับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อน ๆ ของผู้ตายย่อมดีที่สุด ฉะนั้น “ควรหยุดการแชร์ภาพศพ” เพื่อเป็นการให้เกียรติและเคารพผู้เสียชีวิต
ที่มา : มหาวิทยาลัยมหิดล