นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 25 ก.พ.-3 มี.ค. 65 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบว่ามีข้อความเข้ามาทั้งสิ้น 11,456,915 ข้อความ โดยจากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 185 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 94 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นข่าวเกี่ยวกับโควิด 25 เรื่อง
ด้านความคืบหน้าในการประสานงานเพื่อตรวจสอบ ล่าสุดได้รับผลตอบกลับมาแล้ว 45 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นข่าวเกี่ยวกับโควิดโดยตรง 9 เรื่อง ซึ่งทุกเรื่องยืนยันแล้วว่าเป็นข่าวจริง ผลลัพธ์ดังกล่าว สะท้อนว่า ประชาชนมีความตื่นตัวมากขึ้น ในการแจ้งเบาะแส การตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่อยู่ในช่องทางออนไลน์ก่อนส่งต่อ โดยเฉพาะในประเด็นข่าวที่เป็นเรื่องใกล้ตัว
“ข่าวจริงเหล่านี้นับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์กับประชาชน ช่วยบรรเทาความหวาดวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจากภาครัฐสู่ประชาชน ได้แก่ เรื่องผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องกินยาฟาวิพิราเวียร์ เรื่อง สธ. เตรียมจัดบริการเพิ่มสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 แบบผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบ เริ่ม 1 มี.ค. นี้ เรื่อง สปสช.เปิดรับสมัครจิตอาสา ช่วยตอบคำถามผ่านไลน์ สปสช. ประสานผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าระบบการรักษาที่บ้าน เรื่องศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เปิด Walk in ฉีดวัคซีนเข็ม 1, 2, 3 และ 4 ทั้งคงไทยและชาวต่างชาติ อายุ 12 ปีขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 65 เป็นต้น” นางสาวนพวรรณกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังต้องการความร่วมมือจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในการทำงานแก้ไขปัญหาข่าวปลอม เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87