ไทยเตรียมประกาศโควิดเป็น โรคประจำถิ่น วันไหน เช็คที่นี่

09 มี.ค. 2565 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2565 | 14:43 น.

ลุ้น! ไทยเตรียมประกาศโควิดเป็น โรคประจำถิ่น หลัง คกก.โรคติดต่อฯ ไฟเขียวแผนและมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น วันไหน เช็คได้เลย

ฐานเศรษฐกิจ เกาะติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มาต่อเนื่องรวมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ความคืบหน้าล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ระบุว่า ได้เห็นชอบหลักการการจัดการตามแผนและมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่นซึ่งหากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โรคโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ก.ค. 65 เป็นต้นไป

 

นายอนุทิน รองนายกฯ กล่าวว่า เวลานี้มีหลายประเทศที่เตรียมการเปลี่ยนผ่านโควิด 19 ไปสู่โรคประจำถิ่น เช่น ประเทศในทวีปยุโรป ส่วนประเทศไทยนั้นมีการเตรียมมาตรการในการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับระดับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงทุกมิติ อาทิ การเดินทางเข้าประเทศไทยตามโปรแกรม Test &Go ที่มีเงื่อนไขด้านสุขภาพพร้อมกับการอำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางต่างชาติและคนไทย ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ

สำหรับแผนการเข้าสู่โรคประจำถิ่นนั้น มีการจัดเตรียมแผนหลักเพื่อดำเนินการในช่วง 4 เดือนนี้ โดยมีแนวทางครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเตียง การรักษาพยาบาลมีพร้อม อัตราความรุนแรงของโรคควบคุมได้ จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ภายใต้อัตราส่วนของสากล สอดคล้องกับมาตรฐานองค์การอนามัยโลก มียารักษาพร้อม การเข้าถึงยาได้อย่างรวดเร็ว การให้ยาอย่างเหมาะสม ไม่ใช่ครอบจักรวาล ที่สำคัญการเตรียมเข้าสู่โรคประจำถิ่น

 

การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ

อย่างไรก็ดี ประชาชนต้องปฏิบัติตามมาตรฐานป้องกันโรคเช่นเดิม ทั้งมาตรการ VUCA ซึ่งประกอบด้วย V-Vaccine, U-Universal Prevention, C-Covid-19 free setting และ A-ATK ซึ่งพยายามทำให้ประชาชนมีความเข้าใจว่า หากทุกคนได้รับวัคซีนครบถ้วน โดยเฉพาะบูสเตอร์โดสจะลดความรุนแรงได้

สำหรับรายละเอียดแผนการเข้าสู่โรคประจำถิ่นนั้น นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ว่า แผนรองรับการเข้าสู่ Endemic approach ที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้เห็นชอบนั้น แบ่งออกเป็น 4 เดือน เรียกว่า 3 บวก 1 (4 ระยะ) ดังนี้

  • ระยะที่ 1 (12 มี.ค.-ต้นเม.ย.) เรียกว่า Combatting เป็นระยะการต่อสู้เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลงโดยมีมาตรการต่าง ๆ การดำเนินการให้กักตัวลดลง
  • ระยะที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.) เรียกว่า Plateau คือ การคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ
  • ระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.) เรียกว่า Declining คือ การลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1-2 พันราย

อีกบวก 1 หรือระยะ 4  คือ ตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป เรียกว่า Post pandemic คือ ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น โดยแผนดำเนินการทั้งหมดจะต้องการให้เกิดภายใน 4 เดือน ซึ่งหากเป็นไปตามแผนมาตรการที่วางไว้ ในวันที่ 1 ก.ค.65 เป็นต้นไป โควิดจะเข้าสู่โรคประจำถิ่น

 

ทั้งนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า การควบคุมอัตราการเสียชีวิตเพื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่นนั้น ต้องไม่เกิน 1 ในพันราย โดยปัจจุบันเฉลี่ย 0.19% จนถึง 0.2% แต่ถ้าเข้าสู่โรคประจำถิ่นต้องประมาณ 0.1% ปัจจุบันยังไม่ถึงเป้าที่กำหนด เพราะคนเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็น 608 ซึ่งต้องลดให้ได้ 0.1% ให้ได้ครึ่งหนึ่ง

 

อย่างไรก็ดี การตรวจเจอโควิดที่เสียชีวิตอาจไม่ใช่โควิดเพราะหลัง ๆ มีโรคประจำตัว เช่น ไตวาย มีภาวะติดเตียงไม่มีคนดูแล โรคมะเร็งระยะสุดท้าย จึงต้องเคลียร์ตัวเลขเสียชีวิตในส่วนนี้ว่า มีสาเหตุเท่าไร ซึ่งอาจลดลงได้ 20-30% สิ่งสำคัญ คือ กลุ่ม 608 ต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิดให้คนกลุ่มนี้ หลายคนเข้าใจว่า อยู่กับบ้านไม่น่าติดเรื่องนี้จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจ

 

บรรยากาศการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ วันที่ 9 มี.ค.65