ไทยติด Top 10 โลก ประเทศที่มีมหาเศรษฐีร่ำรวยจากการทำธุรกิจใกล้ชิดกับรัฐ

15 มี.ค. 2565 | 08:11 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2565 | 18:13 น.

ไทยติด Top 10 ของโลก ประเทศที่ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีจากธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากความใกล้ชิดกับรัฐมากที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของ The Economist มีประเทศไหนติดอันดับบ้าง เช็คได้ที่นี่

ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist)  ได้เผยแพร่ผลสำรวจมหาเศรษฐี 2,755 คนทั่วโลก และจำแนกพวกเขาออกเป็นกลุ่มที่ความมั่งคั่งมาจากธุรกิจในกลุ่ม Crony sector หรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐ เช่น ธนาคาร, กาสิโน, การป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมที่นำทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตสินค้า และอีกกลุ่มคือ non-Crony sector ซึ่งตรงกันข้าม จากนั้นจึงเทียบความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีทั้ง 2 กลุ่ม กับ GDP ของประเทศในปี2564

โดยผลสำรวจรายงานดัชนีทุนนิยมพวกพ้อง (The Crony-capitalism index) ประจำปี 2564 พบว่า รัสเซียติดอยู่ในรายชื่ออันดับ 1 ที่มีมหาเศรษฐี 70% ใน 120 คน หรือ 84 คน ตรงกับคำจำกัดความทุนนิยมพวกพ้องของดิ อีโคโนมิสต์ ส่วนอเมริกามีเพียง 20% ขณะที่อินเดียมีมหาเศรษฐีกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นจาก 29% เป็น 43% ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา และในการจัดอันดับดังกล่าวพบว่า ในปี 2564 ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 ไต่ระดับขึ้นมาจากอันดับที่ 12 เมื่อปี 2559

 

เปิด 10 อันดับ ประเทศที่มีมหาเศรษฐีร่ำรวยจากการทำธุรกิจใกล้ชิดกับรัฐ ในปี 2564

 

  • อันดับ1 รัสเซีย
  • อันดับ2 มาเลเซีย
  • อันดับ3 สิงคโปร์
  • อันดับ4 ฟิลิปปินส์
  • อันดับ5 ยูเครน
  • อันดับ6 เม็กซิโก
  • อันดับ7 อินเดีย
  • อันดับ 8 อินโดนีเซีย
  • อันดับ 9 ประเทศไทย
  • อันดับ 10 จีน

 

ประเทศที่มีมหาเศรษฐีร่ำรวยจากการทำธุรกิจใกล้ชิดกับรัฐ

 

แต่ถึงอย่างนั้นถ้าเทียบแล้ว สัดส่วนความมั่งคั่งจากกลุ่ม Crony sector ในไทย ก็ยังน้อยกว่ากลุ่ม non-Crony sector อยู่มาก

โดย Crony Capitalism คือระบบทุนนิยมพวกพ้อง ซึ่งหมายถึงการที่นักธุรกิจใช้ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาครัฐ เพื่อสร้างผลกระโยชน์ทางธุรกิจนั่นเอง

 

ผลสำรวจรายงานดัชนีทุนนิยมพวกพ้อง (The Crony-capitalism index) ประจำปี 2564 ระบุว่า การแพร่กระจายของลัทธิพวกพ้องในหลายประเทศผ่านการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (rent-seeking) ของผู้ประกอบการที่สร้างสายสัมพันธ์กับรัฐ หรือ บุคคลในรัฐบาลเพื่อสร้างกำไรสูงสุดแก่ธุรกิจ เป็นพฤติกรรมที่กำลังกัดกินระบบเศรษฐกิจ

 

ทั้งนี้เพื่อวัดว่า มีการใช้ระบบนี้แพร่หลายในโลกมากน้อยแค่ไหน The Economist จึงจัดหมวดหมู่แหล่งความมั่งคั่งหลักของมหาเศรษฐี 2,755 คน โดยแบ่งภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมเป็น 2 หมวด ได้แก่ หมวดที่อาศัยความสัมพันธ์แบบพวกพ้อง และหมวดไม่อาศัยความสัมพันธ์แบบพวกพ้อง

 

ทั้งนี้ หมวดที่อาศัยความสัมพันธ์แบบพวกพ้อง ยังรวมถึงกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะมีพฤติกรรมแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจจากความใกล้ชิดกับรัฐบาล ในภาคธุรกิจธนาคาร กาสิโน การป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมใช้ทรัพยากรสาธารณะสร้างผลประโยชน์ พร้อมกับวัดเปรียบเทียบสัดส่วนของทั้ง 2 หมวด เทียบกับจีดีพีของแต่ละประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของมหาเศรษฐีจากแวดวงเทคโนโลยีทั่วโลก ยังส่งผลให้ระดับความมั่งคั่งจากระบบพวกพ้องลดลง หากพิจารณาจากภาพรวมทั้งหมด

 

อ่านรายละเอียด : คลิ๊กที่นี่