โควิดวันนี้รวมatk ยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) โดยเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ และติดตาม
ร.ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นจาก 1353 คน เป็น 1,464 คน เพิ่มขึ้น 8.2%
ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มจาก 453 คน เป็น 514 คน เพิ่มขึ้น 13.46%
จำนวนติดเชื้อรวม ATK ของวันนี้ เพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อน 2.21% แต่ลดลงกว่าสองสัปดาห์ก่อน 14.93%
บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่ม 234 คน (ชาย 59, หญิง 175)
หมอธีระ ยังโพสด้วยว่า
อัพเดต Long COVID
Guo P และคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดส์ สหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ Frontiers in Aging Neuroscience เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา
สาระสำคัญคือ ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็น Long COVID นั้นมีถึง 70% ที่มีอาการผิดปกติด้านความคิดความจำหรือสมาธิ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีอาการมากนั้น พบว่า 75% ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่สามารถทำงานได้
งานวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ
แม้ COVID-19 จะเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ แต่ความรู้การแพทย์ในปัจจุบันพบว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นจะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ในร่างกาย จนเกิดความผิดปกติในระยะเวลาต่อมา
การติดเชื้อนั้นแม้รักษาหายแล้วในระยะแรก แต่มีโอกาสที่จะส่งผลให้เกิดปัญหา Long COVID ได้ ผ่านหลายกลไกที่มีการตั้งสมมติฐานทางการแพทย์เพื่ออธิบาย ได้แก่ การกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในระบบต่างๆ ของร่างกาย (Chronic inflammation),การติดเชื้อไวรัสแอบแฝงในเซลล์ต่างๆ (Persistent infection)
,การทำงานผิดปกติของอวัยวะและระบบของร่างกายจากการถูกทำลายโดยไวรัส (Dysfunction from viral damage),การทำให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง (Auto-antibody)
และการเสียสมดุลของเชื้อโรคชนิดต่างๆ ที่อยู่ในทางเดินอาหารจนนำไปสู่ความผิดปกติของการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย (Dysbiosis)