ทำไมคนเคย“ติดเชื้อโควิด”มีความเสี่ยงเป็น “โรคเบาหวาน” สูงถึง40%

24 มี.ค. 2565 | 08:41 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2565 | 16:33 น.

ดร.อนันต์ เผยผลงานวิจัยทำไมพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รักษาหายแล้วภายใน 1 ปี เสี่ยงป่วยเป็นโรคเบาหวาน สูงถึง 40 % โดย 100 คน จะพบ 2 คน ซึ่งเป็นตัวอย่างของ Long Covid ที่อยู่นอกระบบทางเดินหายใจ หรือ ระบบประสาท

วันนี้ (วันที่ 24 มี.ค. 2565) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการ กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรือ ไบโอเทค สวทช. เปิดเผยผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Diabetes and Endocrinology เกี่ยวกับ โควิด-19 จากการเก็บข้อมูลจากประชากรกว่า 8.5 ล้านคน โดยระบุว่าในจำนวนประชากรเหล่านั้น มีผู้เคยป่วยด้วยโควิด-19 ถึง 181,000 คน

ทีมวิจัยพบว่า กลุ่มผู้ที่เคยป่วยโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานภายใน 1 ปี สูงถึง 40% หลังจากป่วยเป็นโควิด-19 โดยความเสี่ยงดังกล่าวไม่จำกัดอยู่ในผู้ป่วยที่มีอาการหนักเท่านั้น นอกจากนั้นความเสี่ยงที่สูงขึ้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ที่เอื้อให้ผู้ป่วยรายนั้นเป็นเบาหวาน เช่น น้ำหนักตัวที่มาก ความดันโลหิตสูง คนที่สุขภาพแข็งแรงก่อนติดโควิดมีความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่ากัน

 

Long covid

 

ตัวเลขที่รายงานมาในการศึกษานี้บอกว่า ในทุก 100 คนที่ติดโควิดจะมีถึง 2 คน ที่จะมีอาการของโรคเบาหวานภายใน 1 ปี ซึ่งเป็นตัวอย่างของ Long Covid ที่อยู่นอกระบบทางเดินหายใจ หรือ ระบบประสาท แบบที่ทราบกันมา

ถ้าตัวเลขที่การศึกษานี้เป็นจริง ประชากรที่จะเป็นเบาหวานจะมีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียวครับ  เบาหวานเมื่อเป็นแล้วอยู่กับคนนั้นไปตลอดชีวิต เป็นภาระทางสาธารณสุขที่สำคัญ คิดง่ายๆว่า คนติดโควิด 1 ล้านคน จะมีผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่เกิดขึ้นอีก 20,000 คน โควิดติดแล้วอาการไม่หนักรักษาหายได้ แต่ความเสี่ยงอะไรแบบนี้เรายังมีข้อมูลน้อยมากครับ ยังไงก็ไม่ควรเสี่ยงไปติดเชื้อไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดๆ

 

ต่อเนื่องจากผลการศึกษาว่าคนเคยเป็นโควิดแล้วมีความเสี่ยงของเบาหวานสูงถึง 40% เลยทำให้สนใจค้นต่อว่าไวรัสโรคโควิด-19 ไปทำอะไรกับร่างกายเราหลังได้รับเชื้อ จำได้ว่า เคยอ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า เซลล์ที่ชื่อว่า Beta cell ในตับอ่อนที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน สำหรับควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในสภาวะปกติ สามารถถูกไวรัส SARS-CoV-2 เข้าไปติดเชื้อและถูกทำลายได้ การสูญเสียเซลล์ที่เป็นแหล่งสร้างอินซูลินไป จึงเป็นเหตุผลตรงไปตรงมาที่อธิบายได้ว่าทำไมคนที่เป็นโควิดมาแล้วจึงมีโอกาสเป็นเบาหวานได้ ไวรัสเข้าไปถึงตับอ่อนได้อย่างไรอันนี้ยังเป็นปริศนาครับ เพราะถ้าป้องกันได้ภาวะ Long Covid นี้คงจะสามารถป้องกันได้ไม่มากก็น้อย

 

Long covid

 

ค้นไปเพิ่มเติมพบอีกการศึกษาหนึ่งเกี่ยวกับ ลักษณะของ Beta cell ที่ถูกไวรัส SARS-CoV-2 เข้าไปติดแล้ว อาจจะไม่ทำให้เซลล์นั้นตาย หรือ สูญเสียไปอย่างเดียว เซลล์ที่ยังมีชีวิตรอดอยู่อาจเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า transdifferentiation หรือ พูดง่ายๆคือ เป็นปรากฏการณ์ที่ไวรัสไปเปลี่ยนคุณสมบัติของเซลล์ให้ทำหน้าที่แตกต่างไป แทนที่ Beta cell จะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน เพื่อลดปริมาณของน้ำตาลในกระแสเลือดลง กลับถูกไวรัสกระตุ้นให้สร้างฮอร์โมนกลูคากอน ที่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดแทน ซึ่งทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยโควิด และ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่พบได้หลังจากหายโควิดแล้ว เพราะเซลล์ดังกล่าวยังอยู่ในร่างกายผู้ป่วยต่อไปครับ