6 สัญญาณเตือน “มะเร็งเต้านม” และวิธีสำรวจตัวเองขั้นต้น

26 มี.ค. 2565 | 19:27 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มี.ค. 2565 | 06:25 น.

ข่าวเศร้าการจากไปของ "นุ๊กซี่" แฟนสาวของ "ปูแบล็คเฮด" ด้วยโรคมะเร็งเต้านม ทำให้เราต้องหันกลับมาตระหนักถึงภัยคุกคามของโรคร้ายดังกล่าวที่ยังคงเป็นสาเหตุเบอร์ต้นๆที่คร่าชีวิตสตรีไทย เรามาทำความรู้จัก "สัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม" เอาไว้เพื่อเป็นแนวทางป้องกัน

การจากไปก่อนวัยอันควรของ "นุ๊กซี่” อัญพัชญ์ วัฒนาตันติรัตน์ แฟนสาวของ "ปู แบล็คเฮด" อานนท์ สายแสงจันทร์ นักร้อง-นักดนตรีมากความสามารถ เมื่อคืนวานนี้ (26 มี.ค.) หลังจากที่เธอเข้ารับการรักษาตัวและต่อสู้กับ โรคมะเร็งเต้านม มาเป็นเวลานาน ทำให้สังคมต้องหันกลับมาตระหนักถึงภัยร้ายของโรคดังกล่าว ที่ยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งทั้งหมด

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ มะเร็งเต้านม สัญญาณเตือน รวมทั้ง การสำรวจเต้านมด้วยตนเอง มานำเสนอ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันให้ผู้หญิงไทยห่างไกลจากโรคร้ายนี้

 

อาการและสัญญาณเตือน

มะเร็งเต้านม เป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 2 ของบรรดาโรคมะเร็งทั้งหลาย แต่หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา ก็สามารถหายขาดจากโรคได้

 

ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมักไม่มีอาการเริ่มแรกแสดงให้เห็น อาจคลำพบเพียงก้อนเนื้อบริเวณเต้านมหรือใต้รักแร้  อาจกดเจ็บหรือไม่ก็ได้ ผู้หญิงหลายคนจึงมองข้ามคิดว่าเป็นเรื่องปกติ จนโรคมะเร็งร้ายลุกลามมากแล้ว จึงค่อยตัดสินใจพบแพทย์ ส่งผลให้การรักษาล่าช้าและอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา ก็สามารถหายขาดจากโรคนี้ได้

6 สัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม ที่สามารถสังเกตได้ด้วยตัวเองมีดังนี้ 

  1. คลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้ สามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้านเป็นประจำ โดยก้อนเนื้อที่พบอาจจะกดเจ็บ หรือไม่เจ็บก็ได้ ผู้หญิงทุกคนควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือนหลังรอบเดือนหมด ประมาณ 1 สัปดาห์ 
  2. ขนาดหรือรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป แม้ปกติเต้านมทั้ง 2 ข้างอาจมีขนาดและรูปร่างที่ต่างกันบ้าง แต่การหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างมีลักษณะผิดปกติไปจากเดิม จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้เท่าทันหากเกิดโรคร้ายตั้งแต่ระยะเริ่มต้น 
  3. ผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม หรือบวมหนาเหมือนเปลือกส้ม รวมถึงสีหรือผิวหนังบริเวณลานหัวนมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ละเอียด เนื่องจากอาจเป็นอาการของเซลล์มะเร็งที่ลุกลามมาถึงชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง
  4. มีน้ำเหลืองหรือของเหลวไหลออกมาจากหัวนม โดยเฉพาะหากพบว่าน้ำเหลืองหรือของเหลวไหลนั้นมีสีคล้ายเลือด และออกจากหัวนมเพียงรูเดียว ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเต้านมโดยละเอียด 
  5. อาการเจ็บผิดปกติที่เต้านมหรือผิวหนังของเต้านมอักเสบ หากมีอาการเจ็บเต้านมโดยที่ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน หรือพบว่าผิวหนังรอบๆ เต้านมบวมแดงอักเสบ โดยเฉพาะเมื่อคลำพบก้อนเนื้อร่วมด้วย อย่าละเลยว่าเป็นเรื่องธรรมดาเด็ดขาด 
  6. ผื่นคันบริเวณเต้านมรักษาแล้วไม่หายขาด ผื่นคันอาจเกิดขึ้นที่หัวนมหรือบริเวณเต้าส่วนใหญ่ เริ่มต้นเป็นเพียงผื่นแดงแสบๆ คันๆ แม้จะรักษาโดยแพทย์ผิวหนังแล้วยังไม่หายขาดจนกลายเป็นแผลตกสะเก็ดแข็ง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมอีกครั้ง เนื่องจากอาจเกิดจากเซลล์มะเร็งลามขึ้นมาที่ผิวหนังด้านบนบริเวณหัวนมหรือเต้านมแล้ว

ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม โดยมีปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงมากมาย ทั้งอายุ พันธุกรรม และพฤติกรรมการใช้ชีวิต การป้องกันที่ดีคือหมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกาย และเต้านมอย่างสม่ำเสมอ หากพบสัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

 

การตรวจเต้านมด้วยตนเองเพื่อเช็กมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น

วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง สามารถทำได้ดังนี้

  • การคลำในแนวก้นหอย โดยเริ่มจากคลำส่วนบนของเต้านมตามแนวก้นหอยไปจนถึงฐานนมบริเวณรอบรักแร้
  • การคลำในแนวรูปลิ่ม เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านม จนถึงฐานแล้วกลับขึ้นสู่ยอดอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนทั่วทั้งเต้านม
  • การคลำในแนวขึ้นลงจากใต้เต้านม เริ่มคลำจากใต้เต้านมจนถึงกระดูกไหปลาร้า แล้วขยับนิ้วทั้งสามนิ้ว คลำในแนวขึ้นและลงสลับกันไปเรื่อย ๆ จนทั่วทั้งเต้านม

(ขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลศิครินทร์)

ทั้งนี้ ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ หลังจากหมดประจำเดือน ประมาณ 7 – 10 เพราะเป็นระยะที่เต้านมไม่บวมและนิ่ม ซึ่งจะทำให้ตรวจได้ง่าย และสำหรับผู้หญิงที่หมดประจำเดือน ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลสมิติเวช และ โรงพยาบาลศิครินทร์